แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าอยู่อาศัยและเลี้ยงปลาในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่ จำเลยให้การรับว่า การเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับเจ้าของเดิมที่จำเลยอ้างไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ และอ้างว่าเป็นการเช่าเพื่อทำนาซึ่งได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524 ศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยเช่าที่พิพาทและได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ ดังนี้ เมื่อจำเลยใช้ที่พิพาทเลี้ยงปลาไม่ใช่ทำนา จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 5, 63 และเมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จำเลยก็ยกเรื่องการเช่าขึ้นต่อสู้คดีไม่ได้ รวมทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจยกเรื่องการเช่าขึ้นวินิจฉัยเช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าจำเลยเช่าที่พิพาทเพื่อเลี้ยงปลาและสัญญาเช่าครบกำหนดแล้วจึงเป็นการวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อความปรากฏต่อศาลอุทธรณ์และแม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องห้ามอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243(3) (ก) แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังฝ่าฝืนต่อกฎหมายมาและศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยข้อที่จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ.มาตรา 240 และฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ.มาตรา 538 ที่ว่า โจทก์ต้องผูกพันในฐานะผู้ให้เช่าที่พิพาทโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่าอีกด้วย ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยอยู่อาศัยเลี้ยงปลาในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิ เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ต่อไป จำเลยก็ต้องออกไปโดยไม่มีข้ออ้าง