คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7712/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาเฉลี่ยแล้วสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดให้ และเมื่อคำนึงประกอบกับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งสูงกว่าราคาของที่ดินของโจทก์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ฝ่ายจำเลยนำมาใช้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ กับสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ดังกล่าวประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5)กับประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งด้านหนึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะอันมีมากกว่าส่วนที่เสียหายจากการสร้างทางพิเศษที่ทำให้เสียภูมิทัศน์ของโรงแรมโจทก์กับมลภาวะทางอากาศและเสียงแล้ว ศาลกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมเพิ่มขึ้นจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ได้กำหนดขั้นตอนการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีและการฟ้องคดีต่อศาลไว้โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือมาตรา 23 เป็นผู้กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนก่อนเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดแล้วผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นลำดับต่อมาเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัย แล้วจึงจะถึงขั้นตอนการฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง คือในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี สำหรับความเสียหายของโจทก์ที่ต้องออกจากที่ดินแปลงที่ถูกเวนคืนที่โจทก์ใช้เป็นที่จอดรถในการประกอบกิจการโรงแรมอันเนื่องจากที่ดินส่วนนี้ถูกเวนคืนนั้นเข้ากรณีตามมาตรา 21 วรรคท้าย เป็นคนละส่วนกับค่าทดแทนที่ดินที่ต้องเวนคืน ดังนี้ เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 คือคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายที่จะต้องออกจากที่ดินที่ต้องเวนคืน หากโจทก์ไม่พอใจการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นโจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาวินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นให้แก่โจทก์เสียก่อนเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายในส่วนนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่ร้อยละ 8.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2533 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตยและเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในการสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ โดยกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ต่อมาเมื่อวันที่ 16 และวันที่30 มิถุนายน 2536 เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 132638,132639, 132640 และ 3301 จะถูกเวนคืนทั้งสี่แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 887 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 982 จะถูกเวนคืนบางส่วนคิดเป็นเนื้อที่ 140 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้น และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินรวมเนื้อที่ 1,027 ตารางวา เป็นเงิน 29,783,000 บาท สิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน964,869.13 บาท และไม้ยืนต้นเป็นเงิน 46,845 บาท ให้โจทก์ไปทำสัญญารับเงินค่าทดแทน โจทก์จึงไปทำสัญญาซื้อขายเฉพาะที่ดินที่จะถูกเวนคืนเพื่อขอรับเงินค่าทดแทน 29,783,000 บาท โดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดิน 29,783,000 บาท ได้โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ราคาตารางวาละ 29,000 บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์จึงขอเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินในราคาตารางวาละ 250,000 บาท จำนวน 1,027 ตารางวา คิดเป็นเงิน 256,750,000 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนมาก่อนแล้ว29,783,000 บาท ยังขาดอยู่อีก 226,967,000 บาท เนื่องจากโจทก์ประกอบธุรกิจโรงแรมชั้นหนึ่งโดยเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2534 และใช้ที่ดินบริเวณที่จะถูกเวนคืนเป็นลานจอดรถของผู้มาใช้บริการ ซึ่งโจทก์จะต้องก่อสร้างอาคารจอดรถให้มีพื้นที่เท่าส่วนที่ถูกเวนคืน 1,027 ตารางวา หรือ 4,108 ตารางเมตรคิดเป็นค่าก่อสร้าง 14,378,000 บาท จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่โจทก์จะต้องก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,934,254 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 245,279,254 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี จากต้นเงิน 241,345,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์จึงถูกต้องตามหลักเกณฑ์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยด้วยนั้น โจทก์จะได้รับนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ดังนั้น ตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาและคดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดอีกทั้งอัตราดอกเบี้ยมิได้กำหนดไว้ตายตัว แต่สามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน31,837,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 132638, 132639, 132640, 3301 และ 982 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 228 ตารางวา 99 ตารางวา 157 ตารางวา 403 ตารางวา และ 6 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ตามลำดับ หรือ 3,397 ตารางวา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2533 มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในการสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ โดยกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนต่อมาวันที่ 15 และวันที่ 30 มิถุนายน 2536 ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีหนังสือเชิญโจทก์ไปทำสัญญารับเงินค่าตอบแทน โดยแจ้งว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 13268,13269, 132640 และ 3301 ถูกเวนคืนหมดทั้งสี่แปลงคิดเป็นเนื้อที่ 887 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 982 ถูกเวนคืนบางส่วนคิดเป็นเนื้อที่ 140 ตารางวา โดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 29,000 บาทรวมเนื้อที่ 1,027 ตารางวา เป็นเงิน 29,783,000 บาท ครั้นวันที่ 29 กันยายน 2536 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนและสงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทน และโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทน 29,783,000 บาท จากจำเลยแล้ว แต่โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์แต่ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ รัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 26,000 บาท เนื้อที่ 1,027 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้น 26,702,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย 3,833,017.23 บาทจากจำเลยแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายและเหมาะสมเป็นธรรมหรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ได้แก้ไขเพิ่มเติมว่าการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 ซึ่งมาตรา 21 ได้บัญญัติหลักในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้คำนึงถึง (1) ถึง (5) ประกอบกันกล่าวคือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม แต่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาประเมินเป็นรายแปลงของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน กรมที่ดิน และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นพิจารณากำหนด ซึ่งแม้จะพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 ด้วยดังที่ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.6 ก็ตาม แต่นายกลยุทธ มณฑาศวินพยานจำเลยตอบถามค้านโจทก์ว่า ราคาประเมินดังกล่าวมิได้เก็บมาจากข้อมูลการซื้อขายที่ดิน ซึ่งหมายถึงมิได้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน จึงเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยมิได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ให้ครบทุกประการตามที่กฎหมายกำหนด ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ก็เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวยังไม่เป็นธรรมและต่ำกว่าสภาพความเป็นจริงจึงเพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้อีกตารางวาละ 26,000 บาท จำนวน 1,027 ตารางวา เป็นเงิน26,702,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามมาตรา 26 วรรคท้าย ซึ่งโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2538 ตามสำเนารายงานผลการพิจารณาอุทธรณ์และสำเนาใบสำคัญจ่ายท้ายฎีกาของจำเลย จึงมีปัญหาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดอีกหรือไม่เพียงใด ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นส่วนหนึ่งอยู่ติดถนน และอีกส่วนหนึ่งแม้มิได้เป็นโฉนดที่ดินแปลงเดียวกันที่ดินส่วนที่อยู่ติดถนนแต่ลักษณะของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนทั้งห้าโฉนดก็อยู่ติดต่อกันในลักษณะผืนเดียวสามารถออกไปสู่ถนนสายสำคัญหลายสายได้ทั้งอยู่ในย่านที่เจริญแล้ว และเป็นที่ดินที่พัฒนาทำธุรกิจโรงแรมแล้วในขณะที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ กับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบถึงราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงแล้ว น่าเชื่อว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯเฉลี่ยแล้วสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯกำหนดให้ เมื่อคำนึงประกอบกับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งสูงกว่าราคาของที่ดินของโจทก์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ฝ่ายจำเลยนำมาใช้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ กับสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ดังกล่าวประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามมาตรา 21(1) ถึง (5) กับประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากที่ดินโฉนดเลขที่ 982 ที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา ซึ่งด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือยาวประมาณ 250 เมตร จะเปลี่ยนสภาพเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ซึ่งน่าจะมีมากกว่าส่วนที่เสียหายจากการสร้างทางพิเศษที่ทำให้เสียภูมิทัศน์ของโรงแรมโจทก์กับมลภาวะทางอากาศและเสียง แล้ว เห็นว่าค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมคือตารางวาละ 65,000 บาท เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดอีกตารางวาละ 10,000 บาทจำนวน 1,027 ตารางวา จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์อีกจำนวน 10,270,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนความเสียหายจากการที่โจทก์จะต้องจัดสร้างอาคารที่จอดรถใหม่อันเนื่องมาจากที่ดินโจทก์ใช้เป็นที่จอดรถนั้นถูกเวนคืนหรือไม่ โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ตามมาตรา 21 วรรคท้าย ส่วนจำเลยอ้างว่า ไม่ปรากฏว่ากฎหมายบัญญัติให้รัฐจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนในการก่อสร้างอาคารที่จอดรถให้โจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดขั้นตอนการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีและการฟ้องคดีต่อศาลไว้ โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือมาตรา 23 เป็นผู้กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนก่อน เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดแล้วผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นลำดับต่อมาเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัย แล้วจึงจะถึงขั้นตอนการฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง คือในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันทีพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี ความเสียหายของโจทก์ที่ต้องออกจากที่ดินที่โจทก์ใช้เป็นที่จอดรถในการประกอบกิจการโรงแรมอันเนื่องจากที่ดินส่วนนี้ถูกเวนคืนนั้นเข้ากรณีตามมาตรา 21 วรรคท้าย ซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าทดแทนที่ดินที่ต้องเวนคืน เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 คือ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายที่จะต้องออกจากที่ดินที่ต้องเวนคืน หากโจทก์ไม่พอใจการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาวินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นให้แก่โจทก์เสียก่อน เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายในส่วนนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในอัตราคงที่ร้อยละ 8.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนตามหนังสือเอกสารหมาย จ.6 นั้นขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยบทบัญญัติดังกล่าวในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่29 กันยายน 2536 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 27 มกราคม 2537 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่ม10,270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มกราคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share