คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน
ในการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีนั้น จำเลยที่ 1 จะบริการฉีดสารดังกล่าวให้ภายหลังการขาย โดยจะติดตามไปฉีดให้แก่ลูกค้าที่สถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในลักษณะเป็นการบริการหลังการขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสารดังกล่าว ย่อมต้องทราบทางปฏิบัติว่าจะต้องมีบริการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายลูกค้าด้วยเสมอ พฤติการณ์ที่มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดนั้นจึงถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันในการฉีดสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีเจตนาร่วมกันจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 การที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงผู้เสียหายว่าสารที่ตนนำมาขายให้แก่ผู้เสียหายคือสเต็มเซลล์ที่แท้จริง ก็เพื่อประสงค์จะขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ การหลอกลวงกับการขายจึงเกลื่อนกลืนกันไปเป็นเจตนาเดียว ความผิดฐานฉ้อโกง พยายามฉ้อโกง ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การหลอกขายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งยังต่างวัน เวลา และสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนได้รับบริการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เสร็จสิ้นในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวันเวลา จึงเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่ฉีด แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียวและโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 26, 43 พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 4, 16, 24, 57, 73 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4, 12, 72, 101, 122, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 341 นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.991/2557, อ.1703/2557 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1767/2557 ของศาลแขวงดุสิต และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.6180/2557 ของศาลแขวงธนบุรี และนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.991/2557 ของศาลแขวงดุสิต ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามคืนเงิน 402,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 คืนเงิน 1,465,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และคืนเงิน 70,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางณัฐณิชา ผู้เสียหายที่ 1 และนางณัฏฐนันท์ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะในความผิดฐานฉ้อโกง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 341 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 26, 43 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4, 12, 72 (4), 101, 122, 126 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันพยายามฉ้อโกง ฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและขายยาที่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 101 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 1 ปี 6 เดือน และฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1767/2557 ของศาลแขวงดุสิต ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 402,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และคืนเงิน 1,465,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.991/2557, อ.1703/2557 ของศาลแขวงดุสิต และโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.6180/2557 ของศาลแขวงธนบุรี กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1703/2557 (ที่ถูก อ.991/2557) ของศาลแขวงดุสิตนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ริบของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันฉ้อโกงและฐานพยายามร่วมกันฉ้อโกง และยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ฎีกา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนนั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้โจทก์ร่วมที่ 1 ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีก่อน โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และร่วมกันพยายามฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 4 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าสารที่ตนนำมาขายและฉีดให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ไม่ใช่สเต็มเซลล์ แต่กลับหลอกลวงว่าเป็นสเต็มเซลล์ และการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินค่าสเต็มเซลล์จากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องโจทก์แล้ว ส่วนผู้เสียหายที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 1 ขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายที่ 4 โดยอ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ ผู้เสียหายที่ 4 หลงเชื่อและยินยอมให้จำเลยที่ 1 ฉีดสารดังกล่าวให้แก่ตนเอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถึงขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่ได้ความจากทางนำสืบโจทก์ว่าผู้เสียหายที่ 4 ยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เป็นความผิดสำเร็จเพราะยังไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายที่ 4 ผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามฉ้อโกงเท่านั้น
ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าสารที่จำเลยที่ 1 นำมาขายไม่ใช่สเต็มเซลล์ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพูดจาโน้มน้าวชักชวนให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ซื้อสเต็มเซลล์จากจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ไปรับสารดังกล่าวจากนางสาวพราวพิลาศ ขับรถพาจำเลยที่ 1 ไปฉีดสเต็มเซลล์ คอยช่วยเหลือยกและถือกระเป๋าให้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในเกือบทุกขั้นตอนของการซื้อขายสเต็มเซลล์ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่การงานใดเป็นหลักแหล่ง แสดงว่าธุรกิจการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์เป็นธุรกิจหลักของครอบครัว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และร่วมกันพยายามฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 4 ด้วย
ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าสารที่จำเลยที่ 1 นำมาขายไม่ใช่สเต็มเซลล์แต่กลับพูดสนับสนุนให้โจทก์ร่วมที่ 1 เชื่อว่าคือสเต็มเซลล์ โดยพูดหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 นำสารดังกล่าวมาฉีดให้บุคคลในครอบครัว ทำให้โจทก์ร่วมที่ 1 หลงเชื่อและตัดสินใจซื้อสเต็มเซลล์จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงมีส่วนร่วมในการหลอกลวงขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย และถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ร่วมหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 อย่างไรก็ตาม แต่การพูดจาหว่านล้อมในทำนองว่าคนในครอบครัวก็ได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ด้วยเมื่อสบโอกาส ไม่ได้เลือกว่าจะหลอกลวงผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ พฤติการณ์เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ด้วยเช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และร่วมกันพยายามฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 4 และเมื่อจำเลยทั้งสามร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาหรือไม่ ทางนำสืบโจทก์รับฟังได้ว่า สารที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ถือเป็น “ยา” ตามนิยามในมาตรา 4 (4) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยา กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาด้วย ส่วนสารที่จำเลยทั้งสามขายโดยอ้างว่าเป็นโปรตีนนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการนำไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นยาแผนปัจจุบันและได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสาม แต่สารที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าเป็นวิตามินซีหรือไวตามีนซีสำหรับฉีดนั้น ตามรายงานผลการวิเคราะห์โดยสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าตรวจพบไวตามินซี ซึ่งไวตามินซีสำหรับฉีดจัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องยาอันตราย ข้อ 3 (66) จำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับฎีกาว่า วิตามินซีไม่ใช่ยาอันตราย หากจะลงโทษจำเลยทั้งสามก็ลงโทษได้เฉพาะฐานขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเท่านั้น เป็นการยอมรับว่าวิตามินซีที่จำเลยทั้งสามนำมาขายนั้น เป็นยาแผนปัจจุบันและเป็นยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันและยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เมื่อจำเลยทั้งสามไม่มีใบอนุญาตให้ขายยาดังกล่าว จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า มีเพียงจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ฉีดยาให้แก่บุคคลดังกล่าวด้วยตนเองก็ตาม แต่ในการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีนั้น จำเลยที่ 1 จะบริการฉีดสารดังกล่าวให้ภายหลังการขาย โดยจะติดตามไปฉีดให้แก่ลูกค้าที่สถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในลักษณะเป็นการบริการหลังการขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีดังกล่าว ย่อมต้องทราบทางปฏิบัติว่าจะต้องมีบริการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายลูกค้าด้วยเสมอ พฤติการณ์ที่มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดนั้นจึงถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันในการฉีดสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีเจตนาร่วมกันจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 การที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงผู้เสียหายว่าสารที่ตนนำมาขายให้แก่ผู้เสียหายคือสเต็มเซลล์ที่แท้จริง ก็เพื่อประสงค์จะขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ การหลอกลวงกับการขายจึงเกลื่อนกลืนกันไปเป็นเจตนาเดียว ความผิดฐานฉ้อโกง พยายามฉ้อโกง ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การหลอกขายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งยังต่างวัน เวลา และสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งในข้อนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียว และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าวเป็นหลายกรรมตามฟ้องโจทก์อีกต่อไป จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยทั้งสามตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ส่วนความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนได้รับบริการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เสร็จสิ้นในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวันเวลา จึงเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่ฉีด ซึ่งในความผิดฐานนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียวและโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ดังนั้นจึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสามได้เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาลักษณะแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสามแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและกำหนดโทษจำเลยทั้งสามมานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามนำสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีชนิดฉีด มาหลอกลวงขายและฉีดเข้าสู่ร่างกายของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 แต่อย่างใด มีเพียงความเสียหายต่อทรัพย์สินเท่านั้น และยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ในทำนองว่าหลังจากฉีดสารดังกล่าวแล้วมีอาการกระชุ่มกระชวย ดูสาวและสวยกว่าเดิม รวมถึงรายงานผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษในของกลาง ก็ปรากฏว่าไม่พบสารพิษในสารที่จำเลยที่ 1 ใช้ฉีดให้แก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงยังไม่ถึงกับเป็นภัยร้ายแรง การนำตัวจำเลยทั้งสามไปจำคุกระยะสั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เสียหายและสังคมส่วนรวม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงจำคุกมาก่อน และแม้จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขดำที่ อ.307/2557 หมายเลขแดงที่ อ.1767/2557 และคดีหมายเลขดำที่ อ.1703/2557 หมายเลขแดงที่ อ.1337/2558 ของศาลแขวงดุสิต ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และ 5 เดือน ตามลำดับ และในคดีหมายเลขดำที่ อ.6180/2557 หมายเลขแดงที่ อ.6007/2558 ของศาลแขวงธนบุรี ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสามได้กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรรอการลงโทษไว้ระยะหนึ่ง แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสามเข็ดหลาบ เห็นสมควรให้มีโทษปรับอีกสถานหนึ่งด้วย
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 341 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม), 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 80 อีกบทหนึ่ง ลงโทษฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต วางโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง และความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต วางโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับจำเลยทั้งสามคนละ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 2,500 บาท ฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 2,500 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท คงปรับจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 2,500 บาท รวมปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 7,500 บาท โทษจำคุก จำเลยทั้งสามให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสามฟัง โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และเนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจึงไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีก่อนได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 402,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และคืนเงิน 1,465,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share