คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์สมัครใจเข้าร่วมโครงการลาออกด้วยความสมัครใจของจำเลยโดยในเอกสารมีข้อความว่าข้าพเจ้าขอสละสิทธิและขอปลดเปลื้องบริษัทจากข้อเรียกร้องทั้งปวงความรับผิดข้อเรียกร้องและมูลคดีที่ข้าพเจ้าซึ่งเคยมีกำลังมีหรืออาจเรียกร้องให้มีได้ในอนาคตต่อบริษัทฯลฯทั้งยังมีข้อความว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามโครงการดังกล่าวเป็นเงินทุกประเภทที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ย่อมหมายความว่าการที่จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์จำนวน590,894.91บาทตามโครงการลาออกด้วยความสมัครใจได้รวมเงินทุกประเภทที่โจทก์อาจเรียกร้องจากจำเลยได้อยู่แล้วดังนั้นข้อตกลงที่ว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆจากจำเลยอีกเพราะจำเลยได้จ่ายเงินที่โจทก์พึงจะได้รับตามกฎหมายให้แก่โจทก์หมดแล้วซึ่งไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีผลบังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกผลประโยชน์ใดๆจากจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและขอแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน186,449.27 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้เข้าโครงการลาออกด้วยความสมัครใจและโจทก์สละสิทธิเรียกร้องและประนีประนอมกับจำเลย โดยยินยอมสละสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่กับจำเลยตามกฎหมาย และอื่น ๆ ซึ่งในโครงการลาออกด้วยความสมัครใจดังกล่าวจำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ไปเป็นจำนวน 590,894.91 บาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2527 เงินเดือนสุดท้ายเดือนละ20,410 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนจำเลยมีโครงการให้พนักงานที่จะเต็มใจเกษียณอายุก่อนกำหนดซึ่งเป็นโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ เป็นการให้โอกาสพนักงานที่เต็มใจจะเกษียณอายุก่อนกำหนดได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 พนักงานที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องยื่นใบสมัครภายในเวลาที่กำหนด ต้องผ่านการคัดเลือกจากจำเลยแล้วจำเลยจะพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนให้ในเบื้องต้นคนละ 6 เท่าของอัตราเงินเดือนสุดท้ายต่อไปก็จะพิจารณาค่าตอบแทนให้อีกโดยคำนวณตามอายุการทำงานปีละ 1 เท่า ของอัตราเงินเดือนสุดท้ายซึ่งถือได้ว่าเป็นค่าตอบแทนที่มีจำนวนสูงมากแต่พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องสละสิทธิเรียกร้องที่จะมีต่อจำเลย โจทก์ได้สมัครเข้าโครงการดังกล่าวจนได้รับการคัดเลือกและจำเลยได้อนุญาตให้ลาออกได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 โดยได้รับค่าตอบแทนไปแล้วเป็นจำนวนถึง 590,894.91 บาท เห็นว่า โจทก์ต้องผูกพันตามข้อตกลงที่สละสิทธิเรียกร้องทั้งปวงจากจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าปัญหาแรงงานเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคม เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบในการจ้างแรงงานเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 ที่สละสิทธิเรียกร้องทั้งปวงนั้น มีผลเฉพาะที่ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้น แต่ตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่อาจจะตกลงสละสิทธิเรียกร้องกันได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าแม้ตามฟ้องโจทก์บางข้อเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อโจทก์สมัครใจเข้าร่วมโครงการลาออกด้วยความสมัครใจของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 ซึ่งมีข้อความว่าข้าพเจ้าขอสละสิทธิและขอปลดเปลื้องบริษัทจากข้อเรียกร้องทั้งปวง ความรับผิด ข้อเรียกร้อง และมูลคดี ที่ข้าพเจ้าหรือบุคคลอื่นโดยการเรียกร้องผ่านข้าพเจ้า ซึ่งเคยมี กำลังมี หรืออาจเรียกร้องให้มิได้ในอนาคตต่อบริษัท ฯลฯ ทั้งตามบันทึกเอกสารหมายล.7 ยังมีข้อความว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามโครงการดังกล่าวเป็นเงินทุกประเภทที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ย่อมหมายความว่าการที่จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์จำนวน 590,894.91 บาท ตามโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ ได้รวมเงินทุกประเภทที่โจทก์อาจเรียกร้องจากจำเลยได้อยู่แล้ว ดังนั้น ข้อตกลงที่ว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยอีกเพราะจำเลยได้จ่ายเงินที่โจทก์พึงจะได้รับตามกฎหมายให้แก่โจทก์หมดแล้ว ซึ่งไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกผลประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยอีก ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share