แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นสถาปนิกรับจ้างออกแบบบ้านให้จำเลยที่ 1ก็มีหน้าที่โดยอัตโนมัติที่จะต้องตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างและให้คำแนะนำแก่ผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงาน รวมทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งนี้เพื่อให้รูปแบบที่ก่อสร้างออกมาตรงตามสถาปัตยกรรมที่โจทก์เป็นผู้ออกแบบไว้ เมื่อบ้านชำรุดเพราะมีการทรุดตัวของฐานรากไม่เท่ากัน การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ จึงเป็นสิทธิตามกฎหมายไม่มีข้อเท็จจริงที่จะส่อว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนผลของการร้องเรียนคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม (ก.ส.) จำเลยจะมีมติลงโทษโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ก.ส. จำเลยมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาและให้โจทก์ไปให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการตามรายชื่อที่แนบไป เมื่อโจทก์ไม่ไปแก้ข้อกล่าวหาจึงเป็นสิทธิของคณะอนุกรรมการที่จะดำเนินการไต่สวนไปได้ตามข้อบังคับ ก.ส. ว่าด้วยการไต่สวนผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในกรณีถูกกล่าวหาหรือสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต และการที่ก.ส. สั่งพักใบอนุญาตโจทก์ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นสถาปนิกออกแบบสร้างบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 และต่อมาบ้านที่ก่อสร้างขึ้นมีรอยแตกร้าวหลายแห่ง ซึ่งจะต้องมีการซ่อมแซม ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก็คือ โจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง แต่จำเลยที่ 1 ไปร้องเรียนกล่าวโทษว่าโจทก์ละเลยไม่ควบคุมการก่อสร้าง สำหรับปัญหาที่ว่าโจทก์มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างหรือไม่นั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ยอมรับในฎีกาว่า เมื่อโจทก์รับจ้างออกแบบบ้านแล้วโจทก์มีหน้าที่โดยอัตโนมัติที่จะต้องตรวจสอบการดำเนินงานก่อสร้างและให้คำแนะนำแก่ผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงาน รวมทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งนี้เพื่อให้รูปแบบที่ก่อสร้างออกมาตรงตามสถาปัตยกรรมที่โจทก์เป็นผู้ออกแบบไว้ ไม่ใช่ว่าออกแบบแล้วผู้ก่อสร้างไปสร้างตามใจชอบ ฉะนั้นที่โจทก์ฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 ร้องเรียนไม่เป็นความจริงเพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างหรือเป็นความรับผิดชอบของวิศวกรจึงฟังไม่ขึ้นและถ้าจะพิจารณาในด้านความเสียหายของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำสืบว่า เมื่อบ้านเสียหายได้เรียกให้โจทก์มาพบ โจทก์ประเมินราคา 8,000 บาท และจะให้ผู้รับเหมามาซ่อม แต่ผู้รับเหมาไม่มาซ่อม ต่อมาจำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ไม่ได้เพราะโจทก์ย้ายบ้าน จำเลยที่ 1 เห็นว่าบ้านชำรุดมากขึ้น จึงติดต่อกับนายธารา โรจน์ชนะ ซึ่งเป็นวิศวกรให้มาตรวจจึงพบว่ามีการทรุดตัวของฐานรากไม่เท่ากัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้เชิญนายอรุณ ไชยเสวี ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตรวจอีก ซึ่งก็ได้ผลทำนองเดียวกันและยังประเมินค่าเสียหายถึง 500,000 บาท ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ซึ่งเป็นสถาปนิกผู้รับจ้างว่าไม่ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลนและหลักวิชา จึงเป็นการใช้สิทธิของตนตามกฎหมาย ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะส่อว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ส่วนผลของการร้องเรียนคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมจะมีมติลงโทษโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 ที่โจทก์ฎีกาว่า ในการไต่สวนเกี่ยวกับเรื่องนี้โจทก์ไม่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งรายชื่อคณะอนุกรรมการให้โจทก์ทราบ เพราะจำเลยส่งหนังสือดังกล่าวให้โจทก์ ณ บ้านเลขที่ 114/2 ถนนสุขุมวิทซอย 23 ซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาของโจทก์หากแต่เป็นบ้านของบิดาโจทก์ และในบ้านโจทก์ไม่มีบุคคลชื่อนางสาวโชติรสมีแก้ว ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือดังกล่าวไว้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงครั้งแรก โจทก์ได้ไปให้การต่อคณะอนุกรรมการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2520 โจทก์ก็กล่าวอ้างว่า โจทก์อยู่ที่บ้านเลขที่ 114/2 สุขุมวิท 23 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ทะเบียนบ้านของโจทก์ตามเอกสาร จ.7 ก็มีชื่อโจทก์อยู่ในบ้านเลขที่ดังกล่าว แม้กระทั่งเมื่อโจทก์มาเบิกความต่อศาลเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2522 โจทก์ก็ยอมรับว่าขณะเบิกความโจทก์ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 114/2 สุขุมวิท 23 ฉะนั้นโจทก์จะเถียงได้อย่างไรว่าไม่ใช่ภูมิลำเนาของโจทก์ ฉะนั้นการที่จำเลยส่งหนังสือถึงโจทก์เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2520 ขอให้ไปชี้แจงข้อกล่าวหาและไปให้ถ้อยคำในวันที่ 5 ตุลาคม 2520 ตามเอกสารหมาย ล.6 โดยแนบรายชื่อคณะอนุกรรมการไปให้ทราบด้วย และส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปที่บ้านเลขที่ 114/2 สุขุมวิท 23 จึงเป็นการแจ้งให้โจทก์ทราบโดยชอบแล้ว แม้นางสาวโชติรส มีแก้ว ผู้รับหนังสือจะไม่ใช่คนในบ้านของโจทก์ แต่นางสาวโชติรสก็เป็นลูกจ้างประจำของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งบ้านของโจทก์อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย ฯ และนางสาวโชติรสมีหน้าที่รับส่งหนังสือให้แก่บุคคลซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ตลอดมาจนบัดนี้โดยไม่ปรากฏความเสียหาย ทั้งโจทก์และบิดาโจทก์ก็เคยได้รับจดหมายที่มีมาถึงตนทุกครั้งรวมทั้งครั้งที่ ก.ส. แจ้งมติพักใบอนุญาตโจทก์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2520 ตามเอกสารหมาย จ.6 โจทก์เองก็ได้รับ ฉะนั้นที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยได้ การที่โจทก์ไม่ไปแก้ข้อกล่าวหาจึงเป็นสิทธิของคณะอนุกรรมการที่จะดำเนินการไต่สวนไปได้ตามข้อบังคับ ก.ส. ว่าด้วยการไต่สวนผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในกรณีถูกกล่าวหา เพื่อการสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต พ.ศ. 2512 ข้อ 13 ตามเอกสารหมาย จ.11 และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ