แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การคำนวณรายรับของโจทก์จากการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวเพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องหักวันหยุดประจำสัปดาห์ในวันอาทิตย์และวันหยุดตามประเพณี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ให้ด้วย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยประเมินใหม่ โดยคำนวณจากพลังผลิตของเครื่องจักรผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวเพียงครึ่งเดียว ผลิตได้วันละ 3,600 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 2.75 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2520 โดยมีนางชูศรี ง้วนประเสริฐ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีวัตถุประสงค์ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอกขายส่งตามท้องตลาด โรงงานผลิตก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ซอยน้อมจิต ถนนประชาชื่น เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.5 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างเดือนมิถุนายน 2520 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2520 ไว้ว่ามีกำไรสุทธิ 43,041 บาท 25 สตางค์ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลลงวันที่ 14 มิถุนายน 2522 เอกสารหมาย ล.9 มายังโจทก์ ว่าจากการตรวจสอบพบว่าโจทก์มีรายรับจากการขายเพิ่มขึ้นจากที่ได้ลงบัญชีไว้หลังจากหักต้นทุนการผลิตให้แล้วเป็นเงิน 589,726 บาท 28 สตางค์ และรายจ่ายที่แจ้งไว้เป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(13) และ (18) แห่งประมวลรัษฎากรเสีย 349,027 บาท 50 สตางค์ เมื่อปรับปรุงรายรับและรายจ่ายของโจทก์เพื่อคำนวณกำไรสุทธิแล้ว โจทก์มีกำไรสุทธิเป็นเงิน 981,795 บาท 03 สตางค์ จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 343,628 บาท 26 สตางค์ โจทก์ชำระไว้แล้ว 15,064 บาท 44 สตางค์ จะต้องชำระภาษีเพิ่มอีก 328,563 บาท 82 สตางค์ และต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นเงิน 65,712 บาท 76 สตางค์ รวมเป็นภาษีที่จะต้องชำระเพิ่ม 394,276 บาท 58 สตางค์ ให้โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ภายใน 30 วัน โจทก์อุทธรณ์การประเมินว่าโจทก์ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 3,000 – 3,600 กิโลกรัม ราคาขายเส้นใหญ่กิโลกรัมละ 2 บาท 50 สตางค์ เส้นเล็กกิโลกรัมละ 3 บาท วันอาทิตย์หยุดทำงานตามพระราชบัญญัติแรงงาน จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สั่งให้ยกอุทธรณ์
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ผลิตก๋วยเตี๋ยวโดยใช้เครื่องนึ่งเครื่องเดียวผลิตได้ไม่เกินวันละ 3,600 กิโลกรัมนั้น”
“ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับรายงานเอกสารหมาย ล.20 ที่ว่าแป้ง 1 ถังผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ 50 กิโลกรัม เพราะแม้ถังจะบรรจุแป้งได้ 50 กิโลกรัมก็ตาม แต่แป้งที่ออกจากเครื่องโม่ลงถังมีน้ำปนอยู่ด้วย และการนึ่งแป้งก็ทำให้น้ำระเหยออกไป ทั้งการทำเส้นเล็กจะต้องตากแดดอีกทำให้น้ำหนักลดลงไปอีก ดังนั้นที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ประเมินว่าโจทก์ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 5,850 กิโลกรัม และจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังตามรายงานเอกสารหมาย ล.20 ว่าโจทก์ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 5,850 กิโลกรัมและสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์นั้นจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา คดีน่าเชื่อว่าโจทก์ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวตามความต้องการของลูกค้า บางวันก็ผลิตน้อย บางวันก็ผลิตมาก โดยเฉลี่ยแล้วผลิตวันละ 3,600 กิโลกรัม ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น” ฯลฯ
“ศาลฎีกาเห็นว่าปริมาณการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวของโจทก์วันละ 3,600 กิโลกรัมนั้น เป็นปริมาณเฉลี่ย บางวันโจทก์อาจผลิตน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว บางวันเช่นก่อนหน้าวันหยุดหรือวันเทศกาลอาจผลิตมากกว่าแต่เฉลี่ยแล้วในวันทำงานโจทก์ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 3,600 กิโลกรัม การคำนวณรายรับของโจทก์เพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องหักวันหยุดให้ด้วย
ฎีกาของโจทก์นอกจากนี้ไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษากลับว่าให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้อง ให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์เสียใหม่ สำหรับเงินได้จากการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวให้คำนวณจากปริมาณการผลิตวันละ 3,600 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท 75 สตางค์ นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2520 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2520 โดยให้หักวันหยุดประจำสัปดาห์ในวันอาทิตย์ และวันหยุดตามประเพณี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ออก คำขอบังคับของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาทแทนโจทก์”