แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับห้าง อ.แต่บันทึกดังกล่าวสูญหายไป โจทก์ย่อมนำพยานบุคคลมาสืบถึงข้อตกลงดังกล่าวได้โดยได้รับอนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2)หาใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็น การขัดต่อมาตรา 94 ไม่
ข้อตกลงที่ว่าเมื่อห้าง อ. เลิกกิจการและชำระบัญชีแล้ว หากสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ ก็ให้โจทก์ออกเงิน 50,000 บาทและห้าง อ.จะโอนที่พิพาทคืนให้โจทก์โดยปลอดจำนองนั้น ห้าง อ. จะมีเงินพอไถ่ถอนจำนองหรือไม่เป็นเรื่องภายหน้า มิใช่เหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะทำนิติกรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยหาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ไม่และข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นข้อตกลงในการชำระบัญชีแต่เป็นข้อตกลงในการเข้าเป็นหุ้นส่วนซึ่งมีผลบังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณี จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1062 และมาตรา 1269 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และไม่ตกเป็นโมฆะ
โจทก์ฟ้องให้มีการชำระหนี้ตามข้อตกลงในการเข้าเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับห้าง อ. ซึ่งโจทก์จะต้องชำระเงินให้แก่ห้างและห้างจะต้องจดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง เมื่อคำฟ้องบรรยายไว้ชัดแจ้งแล้ว แม้คำขอท้ายฟ้องจะขาดคำว่าโดยปลอดจำนองไป ก็พอแปลได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้จดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ได้ไม่เป็นการเกินคำขอและไม่เป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพราะห้าง อ. จะต้องไถ่ถอนจำนองก่อนจดทะเบียนโอน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท โจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมน้ำแข็งตราดตกลงกันให้โจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดในห้าง โดยห้างขอใช้ที่พิพาทของโจทก์เป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็งและโจทก์ยอมให้นำที่พิพาทไปจำนองแก่ธนาคาร และเพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน จึงได้มีการตกลงให้โจทก์ทำนิติกรรมยกให้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแก่ห้าง เมื่อห้างเลิกกิจการและชำระบัญชีแล้ว หากปรากฏว่าสินทรัพย์ไม่พอใช้หนี้ ก็จะให้โจทก์ออกเงินให้กองทรัพย์สินของห้างเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วห้างจะจดทะเบียนโอนแก้ชื่อในโฉนดเป็นชื่อของโจทก์ตามเดิมโดยปลอดจำนอง ต่อมาศาลได้พิพากษาให้เลิกห้างและตั้งผู้ชำระบัญชี และเนื่องจากสินทรัพย์ของห้างไม่พอชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีจึงร้องขอให้ล้มละลาย ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว หลังจากนั้นผู้ชำระบัญชีในฐานะเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของห้างได้แจ้งให้โจทก์ส่งเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เข้ากองทรัพย์สิน โจทก์ได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์และโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนองตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับห้าง แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์กลับประกาศขายโรงน้ำแข็งรวมกับที่พิพาทด้วย จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์ตกลงเข้าหุ้นกับห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมน้ำแข็งตราดโดยลงหุ้นเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท และเงินค่าหุ้นนี้ยังมิได้ชำระ ที่พิพาทโจทก์ได้ทำนิติกรรมยกให้ห้างดังกล่าวโดยเด็ดขาดแล้ว ข้อตกลงอื่นใดโจทก์ไม่มีพยานหลักฐาน หากมีจริงก็ตกเป็นโมฆะเพราะเป็นการแสดงเจตนาลวงจำเลยจึงไม่ต้องโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท จากโจทก์แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเป็นชื่อโจทก์โดยปลอดจำนอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแต่เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จดทะเบียนโอนโดยปลอดจำนองนั้นเป็นการเกินคำขอพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท จากโจทก์ แล้วจดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นชื่อโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลย(ผู้ชำระบัญชี)ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่ามีบันทึกข้อตกลงเรื่องการโอนที่พิพาทคืนระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมน้ำแข็งตราดจริง แต่บันทึกดังกล่าวสูญหายไป และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อบันทึกดังกล่าวสูญหายไปโจทก์ย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้โดยได้รับอนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓(๒) หาใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหนังสือสัญญาให้ อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของผู้ชำระบัญชีข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ผู้ชำระบัญชีฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ข้อตกลงที่ว่าเมื่อห้างฯ เลิกกิจการและชำระบัญชีแล้ว หากปรากฏว่าสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ ก็ให้โจทก์ออกเงินให้๕๐,๐๐๐ บาท และห้างฯ จะโอนที่พิพาทคืนให้โจทก์โดยปลอดจำนองนั้น เป็นการพ้นวิสัยที่จะกระทำได้เพราะถ้าห้างฯ มีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ก็ย่อมไม่มีเงินที่จะนำมาไถ่ถอนจำนอง และถ้าหากห้างฯ มีเงินมาไถ่ถอนจำนอง ก็ไม่ใช่กรณีที่ห้างฯ มีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ ห้างฯ ไม่จำต้องโอนที่พิพาทคืนให้โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการพ้นวิสัย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ นอกจากนี้ยังเป็นการตกลงกำหนดวิธีชำระบัญชีกันเองไว้ล่วงหน้า ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๒๖๙ และ ๑๐๖๒ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ผิดแผกแตกต่างกับบทบัญญติของกฎหมายอันเกี่ยวความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อห้างฯ เลิกกิจการและชำระบัญชีนั้น ห้างฯ จะมีเงินพอไถ่ถอนจำนองหรือไม่เป็นเรื่องภายหน้าซึ่งอาจมีพอหรือไม่ก็ได้ หากห้างฯ มีเงินไม่พอ หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็จะต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ ต่อไปตามกฎหมาย ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับห้างฯ ดังกล่าวจึงไม่เป็นการพ้นวิสัย ถึงหากจะเป็นพ้นวิสัยก็เป็นการชำระหนี้ซึ่งกลายเป็นพ้นวิสัย มิใช่วัตถุประสงค์เป็นพ้นวิสัย เพราะมิใช่เหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะทำนิติกรรม หาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๓ ดังที่ผู้ชำระบัญชีฎีกาไม่ ส่วนที่ผู้ชำระบัญชีอ้างว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการตกลงกำหนดวิธีชำระบัญชีกันเองไว้ล่วงหน้า ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๙ และ ๑๐๖๒ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นข้อตกลงในการชำระบัญชี แต่เป็นข้อตกลงในการเข้าเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับห้างฯ ซึ่งมีผลบังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณี ไม่ตกเป็นโมฆะแต่ประการใด ฎีกาของผู้ชำระบัญชีข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกดุจกัน
คงมีปัญหาที่จะต้องวินิฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าห้างฯ จะต้องจดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง แต่ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขาดคำว่าโดยปลอดจำนองศาลจะพิพากษาให้มีการจดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนองได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้มีการชำระหนี้ตามข้อตกลงในการเข้าเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับห้างฯ ซึ่งโจทก์จะต้องชำระเงินให้แก่ห้างฯจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท และห้างฯ จะต้องจดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง เป็นการชำระหนี้ตอบแทนกัน เมื่อคำฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้ว แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขาดคำว่าโดยปลอดจำนองไปก็พอแปลได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้ห้างฯ จดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง มิฉะนั้นย่อมจะมิใช่เป็นการชำระหนี้ตอบแทนกัน ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ได้หาเป็นการเกินคำขอไม่ ทั้งไม่เป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เพราะห้างฯ จะต้องไถ่ถอนจำนองก่อนจดทะเบียนโอนที่พิพาท ส่วนห้างจะสามารถจดทะเบียนโอนที่พิาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนองได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท จากโจทก์ แล้วจดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์โดยปลอดจำนอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก