คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 57และมาตรา 58 ต่างบัญญัติอยู่ในหมวดเดียวกันว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้งมาตรา 57 เป็นเรื่องตัวบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งและระยะเวลาการคัดค้าน ส่วนมาตรา 58 เป็นเรื่องการดำเนินการพิจารณาและการมีคำสั่งของศาลซึ่งอาจทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเข้ามาก็เพื่อจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 58 การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องและมีคำสั่งตามมาตรา 58 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะสั่งอย่างไรก็ตามหากได้แจ้งคำสั่งไปยังเทศบาลผู้ประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว คำสั่งที่แจ้งไปนั้นย่อมเป็นที่สุดทุกกรณีคู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้นให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 71 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจหน้าที่ดูแลแนะนำช่วยเหลือ โดยร่วมมือกับเทศบาลอำนวยความสะดวกและรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 14 จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนครมีจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นนายกเทศมนตรี จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดและตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 27 มาตรา 29 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 56 และยังมีหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งดังกล่าวให้เป็นไปโดยเรียบร้อยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม โจทก์อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 5 มาตรา 14มาตรา 26 และมาตรา 29 มีคำสั่งโดยประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ และให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเลือกตั้งดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งดังกล่าวโดยระบุวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 พฤษภาคม 2542ปรากฏว่าการดำเนินการเลือกตั้งหลายหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดสี่สิบสี่หน่วยไม่เป็นไปโดยเรียบร้อยและเที่ยงธรรม โดยพบว่ามีการกระทำการทุจริตระหว่างลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง โดยเฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่ 5 ที่ 9 และที่ 23 เกิดความวุ่นวายจนเป็นเหตุให้คณะกรรมการตรวจคะแนนต้องสั่งเลื่อนการลงคะแนน และจำเลยทั้งสองได้ประกาศวันลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งสามหน่วยดังกล่าวใหม่ในวันที่ 30 พฤษภาคม2542 มีประชาชนจำนวนมากร้องเรียนไปยังโจทก์และกระทรวงมหาดไทยขอให้ยกเลิกการเลือกตั้งดังกล่าวและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีโจทก์เป็นประธานกรรมการผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการได้ความว่า มีการทุจริตและกระทำผิดกฎหมายหลายประการในหลายหน่วยเลือกตั้ง คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 17 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 38 ที่ 39 ที่ 40 และที่ 43 นอกจากนั้นยังปรากฏว่าในระหว่างปฏิบัติหน้าที่อำนวยการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนน เจ้าหน้าที่คะแนนและเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งกระทำผิดกฎหมายด้วยประการต่าง ๆ โจทก์รายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างรอคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่นั้นได้มีการดำเนินการเลือกตั้งในหน่วยที่ 5 ที่ 9 และที่ 23 ใหม่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 จนเสร็จ และจำเลยทั้งสองได้ประกาศผลการเลือกตั้งโดยทราบอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 จำนวน 41 หน่วยเลือกตั้ง และในวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 จำนวน 3 หน่วยเลือกตั้งดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้โจทก์ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าวและประกาศกำหนดการเลือกตั้งใหม่แต่จำเลยทั้งสองแจ้งว่าไม่อาจกระทำได้ โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองส่งผลกระทบต่อสาธารณชนและเป็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญ โจทก์จึงเสนอข้อหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นในประเด็นนี้ตามสำเนาบันทึกช่วยจำเอกสารท้ายคำฟ้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 และประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองทั้งสอง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง และศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่ากรณีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ. 2482 จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าทั้งมาตรา 57 และมาตรา 58 ดังกล่าวต่างบัญญัติอยู่ในหมวดเดียวกันว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้ง มาตรา 57 เป็นเรื่องตัวบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งและระยะเวลาการคัดค้าน ส่วนมาตรา 58 เป็นเรื่องการดำเนินการพิจารณาและการมีคำสั่งของศาล ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทีโจทก์ยื่นฟ้องเข้ามาเป็นคดีนี้ก็เพื่อจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 58 นั่นเองการที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องและมีคำสั่งตามมาตรา 58 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะสั่งอย่างไรก็ตามหากได้แจ้งคำสั่งไปยังเทศบาลผู้ประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว คำสั่งที่แจ้งไปนั้นย่อมเป็นที่สุดทุกกรณีคู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 58 จึงไม่ชอบ”

พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

Share