คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ แม้จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นผู้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ คงมีรถไว้เพื่อให้เช่าซื้อเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มาตรา 7 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายจากผู้ประสบภัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้ ตามมาตรา 26

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน ๑๙,๑๒๕ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของเงินต้นจำนวน ๑๘,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน ๑๘,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของเงินต้น จำนวน ๑๘,๐๐๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๕๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๗ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๘ เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท ฯ” และมาตรา ๔ ให้คำจำกัดความคำว่า “เจ้าของรถ” หมายถึง ผู้ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึง ผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวด้วย ดังนั้น ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อต่างก็เป็น “เจ้าของรถ” ตามคำจำกัดความดังกล่าว เพราะผู้ให้เช่าซื้อคือเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่าซื้อคือผู้ครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ตามมาตรา ๗ นั้นระบุว่าผู้ที่จะต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยนั้น ต้องเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้เท่านั้น หากเป็นเจ้าของรถแต่ไม่ได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ เช่น มีรถโบราณเก็บไว้ดูเป็นอนุสรณ์ ก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรานี้ เพราะมาตรานี้มุ่งหมายถึงเฉพาะเจ้าของรถที่มีการใช้รถเท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ แม้จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นผู้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้คงมีรถไว้เพื่อให้เช่าซื้อเท่านั้น จำเลยที่ ๒ จึงไม่จำต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา ๗ เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายจากผู้ประสบภัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๒ ได้ตามมาตรา ๒๖ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลสำหรับโจทก์และจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share