คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายจ้างลูกจ้าง จำเลยที่ 3ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยขับรถดั๊มโดยประมาทกระบะหลังกระแทกถูกหลังคาปั๊มน้ำมันของบริษัท ค. ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายเป็นเงิน 312,000 บาท โจทก์ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร ร่วมกระทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดเพราะอะไร จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 3 จะให้การว่ารับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุก็ตาม ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ขับรถดั๊มคันหมายเลขทะเบียน 71-7649 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1ไปเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันคิวเอท ตั้งอยู่เลขที่ 57/1 หมู่ที่ 19 ถนนนิมิตรใหม่ เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นปั๊มน้ำมันของบริษัทคูเวตปิโตรเลี่ยม (ประเทศไทย) จำกัดที่โจทก์รับประกันภัยไว้ หลังจากเติมน้ำมันเสร็จแล้ว จำเลยที่ 2 ขับรถไปจอดที่บริเวณด้านหลังของปั๊มน้ำมันเพื่อตรวจเช็คและยกกระบะหลังขึ้นจนสุด แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ขณะขับรถจะออกจากปั๊มน้ำมันจำเลยที่ 2 ไม่ยกกระบะหลังลงเป็นเหตุให้กระบะหลังกระแทกหลังคาปั๊มน้ำมันได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 312,000 บาท บริษัทคูเวต ปิโตรเลี่ยม (ประเทศไทย) จำกัด เรียกให้จำเลยทั้งสามชำระค่าซ่อมแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2540 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงชำระค่าซ่อมจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทคูเวต ปิโตรเลี่ยม(ประเทศไทย) จำกัด และรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าซ่อมจำนวน 312,000 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,116.21บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง จำนวน 328,116.21 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 328,116.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 312,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์แต่ไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 3 เป็นหนี้ค่าอะไรและจำเลยที่ 3 มีความผูกพันกับจำเลยที่ 1และที่ 2 อย่างไรในการที่จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 3 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์หรือเป็นนายจ้างกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมทำให้จำเลยที่ 3ไม่เข้าใจข้อหาและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินความเป็นจริงจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 71-7649กรุงเทพมหานคร จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด แต่คดีนี้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดหากศาลพิจารณาว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด จำเลยที่ 3 ก็รับผิดไม่เกิน 250,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 312,000บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันที่ 29 มกราคม 2540เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่าคำฟ้องบรรยายไว้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายจ้างลูกจ้าง จำเลยที่ 3ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยขับรถดั๊มคันหมายเลขทะเบียน 71-7649 กรุงเทพมหานคร โดยประมาทกระบะหลังรถกระแทกถูกหลังคาปั๊มน้ำมันคิวเอทของบริษัทคูเวตปิโตรเลี่ยม (ประเทศไทย)จำกัด ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เสียหายเป็นเงิน 312,000 บาท โจทก์ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร ร่วมกระทำละเมิด หรือต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดเพราะอะไรล้วนแต่ไม่ปรากฏทั้งสิ้นคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง เป็นฟ้องเคลือบคลุมและแม้จำเลยที่ 3 จะให้การว่ารับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุก็ตาม ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share