คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7683/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 5 แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าไม่ว่าหนี้ในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จำเลยที่ 5 ต้องชำระต่อจำเลยที่ 1 ไปให้แก่โจทก์ หนังสือดังกล่าวยังแจ้งด้วยว่าแม้ใบเรียกเก็บเงินบางฉบับอาจจะไม่มีข้อความที่ระบุข้างต้น ก็ให้ชำระเงินแก่โจทก์ตามรายการในใบเรียกเก็บเงินทุกใบต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงให้เห็นว่าเป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าขายสินค้าที่จำเลยที่ 5 มีต่อจำเลยที่ 1 ที่จะเกิดขึ้นต่อไปทั้งหมด มิได้เป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าเฉพาะราย หลังจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 5 ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 5 สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 หลายครั้งและชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้นการซื้อขายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นการซื้อขายแบบต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นการซื้อขายสินค้าเจาะจงเฉพาะสิ่ง การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าจึงรวมถึงหนี้ค่าสินค้ารายการที่ 1 ถึง 14 ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 5 แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 5 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ค่าขายสินค้าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 5 ชำระเงิน 5,023,029.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,861,515.57 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงิน 4,357,862.56 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมการชำระเงินเบื้องต้น 429,560.57 บาท และค่าธรรมเนียมการชำระเงินเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 4,357,862.56 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้เงิน 4,787,423.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 4,357,862.56 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 5 ใช้เงิน 485,286.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีของต้นเงินค่าสินค้าในแต่ละจำนวน นับแต่วันที่หนี้ค่าสินค้าแต่ละจำนวนตามรายการที่ 6 ถึง 14 ตามรายละเอียดการคำนวณภาระหนี้ครบกำหนด จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 5,019,537.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีของต้นเงิน 4,858,651.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ในวงเงิน 4,787,423.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 4,357,862.56 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้แก่โจทก์ได้ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 5 อ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 เพียงครั้งเดียว ก่อนเวลาที่จำเลยที่ 5 สั่งซื้อสินค้ารายการที่ 1 ถึงที่ 14 จากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแจ้งก่อนที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 5 ถือว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้จำเลยที่ 5 ทราบตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ได้ตามฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 5 แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าไม่ว่าหนี้ในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จำเลยที่ 5 ต้องชำระต่อจำเลยที่ 1 ไปให้แก่โจทก์ ซึ่งในหนังสือดังกล่าวยังแจ้งด้วยว่าแม้ใบเรียกเก็บเงินบางฉบับอาจจะไม่มีข้อความที่ระบุข้างต้น ก็ขอชำระเงินให้แก่โจทก์ตามรายการในใบเรียกเก็บเงินทุกใบต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงให้เห็นว่าเป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าขายสินค้าที่จำเลยที่ 5 มีต่อจำเลยที่ 1 ที่จะเกิดขึ้นต่อไปทั้งหมด มิได้เป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เฉพาะราย ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 5 ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 5 ก็ได้สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 หลายครั้งและชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น การซื้อขายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นการซื้อขายแบบต่อเนื่องไม่ใช่เป็นการซื้อขายสินค้าเจาะจงเฉพาะสิ่ง การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าจึงรวมถึงหนี้ค่าสินค้ารายการที่ 1 ถึง 14 ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าขายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 5 ทราบแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 5 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ชำระหนี้ค่าสินค้าได้ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดในหนี้จำนวน 3,657,094.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับตามสัญญาโอนขายสิทธิเรียกร้องรายการที่ 1 จำนวน 903,508.45 บาท นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2541 รายการที่ 2 จำนวน 2,546.06 บาท นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2541 รายการที่ 4 จำนวน 1,314,194.11 บาท นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2541 รายการที่ 5 จำนวน 1,001,816.64 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2541 รายการที่ 6 จำนวน 166,315.37 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 รายการที่ 7 จำนวน 15,285.59 บาท นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2541 รายการที่ 8 จำนวน 72,799.33 บาท นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2541 รายการที่ 9 จำนวน 74,509.72 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2541 รายการที่ 10 จำนวน 31,855.99 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2541 รายการที่ 11 จำนวน 20,996 บาท นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2541 รายการที่ 12 จำนวน 4,341.29 บาท นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2541 รายการที่ 13 จำนวน 26,573.78 บาท นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 และรายการที่ 14 จำนวน 22,333.81 บาท นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมใช้เงินจำนวน 485,286.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าสินค้าที่ครบกำหนดชำระรายการที่ 6 จำนวน 185,537 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 รายการที่ 7 จำนวน 17,052.20 บาท นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2541 รายการที่ 8 จำนวน 81,213 บาท นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2541 รายการที่ 9 จำนวน 83,121.06 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2541 รายการที่ 10 จำนวน 35,537.70 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2541 รายการที่ 11 จำนวน 23,422.58 บาท นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2541 รายการที่ 12 จำนวน 4,843.03 บาท นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2541 รายการที่ 13 จำนวน 29,645 บาท นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 และรายการที่ 14 จำนวน 24,915 บาท นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share