คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7828/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เรื่องการจำยอมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1387 กำหนดว่า อสังหาริมทรัพย์อาจตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กฎหมายเพ่งเล็งถึงความสำคัญของตัวอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ภาระจำยอมถนนที่ใช้เป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยโดยอายุความ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๐๑ ประกอบด้วยมาตรา ๑๓๘๒ นั้น ภาระจำยอมเดินทางเข้าออกอาจได้มาโดยการใช้ทางดังกล่าวโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี กรณีจึงเห็นได้แจ้งชัดอยู่ว่ากฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่มีการใช้ทางพิพาท โดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใคร ก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยหรือไม่ คดีนี้โจทก์จึงอาจนำสืบว่ามีการใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยติดต่อกันจนได้อายุความแล้วได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางที่ผ่านที่ดินของจำเลย กว้าง ๒.๕ เมตร ยาว ๖ เมตร เป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนรั้วไม้สนและทำถนนที่จำเลยขุดออกให้โจทก์เดินได้ตามปกติ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้โจทก์รื้อและทำถนนได้เองโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยชี้ขาดได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ แล้วมีคำสั่งงดสืบพยานและพิพากษายกฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า ภาระจำยอมในเรื่องทางเดินนั้นเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 ว่า “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น” แสดงว่ากฎหมายเพ่งเล็งถึงความสำคัญของตัวอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายโดยกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ภาระจำยอมถนนที่ใช้เป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยโดยอายุความ ซึ่งกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในเรื่องอายุความได้สิทธิมีบัญญัติไว้ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” ดังนั้น เมื่อนำมาอนุโลมใช้กับการได้ภาระจำยอมในกรณีตามฟ้องจึงหมายความได้ว่า ภาระจำยอมทางเดินเข้าออกอาจได้มาโดยการใช้ทางดังกล่าวสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี กรณีเห็นได้แจ้งชัดอยู่ว่ากฎหมายมุ่งความสำคัญตรงที่มีการใช้ทางพิพาทโดยไม่มีใครห้ามปรามและไม่ต้องรับอนุญาตจากใครก็เกิดภาระจำยอมโดยอายุความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ทางนั้นจะต้องเป็นผู้ใช้ติดต่อกันสิบปีด้วยไม่ คดีนี้โจทก์จึงอาจนำสืบว่ามีการใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยติดต่อกันจนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้วได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share