แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์รับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานโดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพนี้มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้รับเงินจากลูกค้าแล้วไม่นำเงินส่งแก่โจทก์และขอชำระเงินดังกล่าวในวันทำสัญญาบางส่วน ส่วนที่เหลือจะชำระในวันรุ่งขึ้นจำนวนหนึ่งและจะผ่อนชำระอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้ หนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงชำระให้แก่โจทก์คือหนี้ที่จำเลยที่ 1 ผูกพันต่อโจทก์อยู่แล้ว มิใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันใหม่อันมีผลให้หนี้เดิมของจำเลยที่ 1 ระงับไป การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 ระงับไป การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ไม่ได้เปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะมีผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด
ความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่ต้นปี 2541 เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 และการที่อายุความสะดุดหยุดลงนี้ย่อมมีผลเป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2536 โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานธุรการและการเงิน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดผิดอย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวนต่อมาระหว่างต้นปี 2541 ถึงเดือนกรกฎาคม 2543 จำเลยที่ 1 รับเงินค่าบริการซ่อมบำรุงรถยนต์และค่าอะไหล่รถยนต์ที่ลูกค้านำเข้ามารับบริการรวมเป็นเงินทั้งหมด 1,765,747 บาท แล้วไม่นำส่งมอบแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกค้า ซึ่งชำระหนี้ค่าซ่อมรถและบริการแก่โจทก์แล้ว ไม่นำส่งแก่โจทก์จำนวน 1,764,747 บาท จริง และได้ชำระเงินแก่โจทก์ในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 210,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงจะผ่อนชำระคืนแก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่หลังจากวันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจนถึงปัจจุบันจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์เลย โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้วแต่เพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,554,747 บาท นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2543 อันเป็นวันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 51 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 33,038 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,587,785 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,587,785 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,554,747 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา ศาลให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเฉพาะระหว่างการทดลองงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งในระหว่างการทดลองงานจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดหรือก่อความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 ได้แจ้งโจทก์ทราบแล้วว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยที่ 2 ไม่ตกลงค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 อีก โจทก์ได้รับทราบแล้ว และไม่ติดใจเรื่องการค้ำประกันการทำงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการทำละเมิดและผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ในวันที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้มีการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระ และมีการรับชำระเงินบางส่วน โดยมีจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระเงินของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามหนังสือรับสภาพหนี้โดยโจทก์ตกลงยินยอมด้วยทั้งสิ้นโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้ตามมูลหนี้ละเมิดมาเป็นหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ พร้อมทั้งทำสัญญาค้ำประกันใหม่โดยเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 3 และให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น การค้ำประกันของจำเลยที่ 2 จึงยกเลิกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อีก ทั้งนี้ ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อกันมียอดหนี้ที่สูงเกินความเป็นจริง มีเจตนาไม่สุจริตที่ให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเป็นจำนวนเงินที่มากโดยสมยอมกัน และตามสัญญาค้ำประกันไม่ได้กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดจากจำเลยที่ 2 โจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้ฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วยในการทำหนังสือดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,554,747 บาท พร้อมดอกเบี้ยสำหรับจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 25 กรกฎาคม 2543) สำหรับจำเลยที่ 2 ต้องชำระแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถึงกำหนดในหนังสือทวงถาม (วันที่ 25 สิงหาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 33,038 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย “คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 สมัครเป็นพนักงานในตำแหน่งพนักงานการเงินที่บริษัทโจทก์ โจทก์รับจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานทดลองงานในตำแหน่งพนักงานธุรการและการเงินแผนกบริการ (สุขาภิบาล 2) ฝ่ายบริการและอะไหล่รถยนต์ โดยเข้ารับการทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยทำสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้รับการโอนย้ายมาทำงานในตำแหน่งพนักงานธุรการและการเงิน แผนกบริการ (หัวหมาก) ระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกค้าซึ่งชำระค่าซ่อมและค่าบริการแก่โจทก์ แล้วไม่นำส่งเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 1,764,747 บาท และจะขอผ่อนชำระโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เมื่อต้นปี 2541 ถึงกลางปี 2543 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการแรกตามข้อ 2 ข. ว่า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 ผูกพันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 อีกต่อไป มีลักษณะเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ระงับไปหรือไม่นั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์และขอชำระเงินดังกล่าวในวันทำสัญญาบางส่วน ส่วนที่เหลือจะชำระในวันรุ่งขึ้นจำนวนหนึ่งและจะผ่อนชำระอีกจำนวนหนึ่ง ข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงชำระให้แก่โจทก์ก็คือหนี้ที่จำเลยที่ 1 ผูกพันต่อโจทก์อยู่แล้ว มิใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันใหม่อันมีผลให้หนี้เดิมของจำเลยที่ 1 ระงับไป การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะมีผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2 จ. ว่าโจทก์อ้างว่ามีการทุจริตตั้งแต่ปี 2541 แต่เพิ่งมาฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2543 คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 กำหนดเวลาดังกล่าวนี้เริ่มนับแต่ต้นปี 2541 เมื่อจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 อายุความย่อมสะดุดหยุดลง โดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 และการที่อายุความสะดุดหยุดลงนี้ย่อมมีผลเป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 692 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 15 กันยายน 2543 เมื่อนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน