คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หากโจทก์เห็นว่าข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมนั้นไม่ถูกต้อง ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 เมื่อโจทก์ ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีใหม่ได้อีก การบังคับคดีเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นต้องว่ากล่าวกันในคดีที่มีคำพิพากษาตามยอม ไม่มีอำนาจมาฟ้องบังคับเป็นคดีใหม่.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เดิมจำเลยได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง ต่อมาได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 791/2532โจทก์ทั้งสองได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่จำเลยโดยนำเงิน 245,000 บาทไปชำระแก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยภายในกำหนดเวลา แต่ปรากฏว่าจำเลยหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้พบ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลยได้ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาที่จะอ้างว่าโจทก์ทั้งสองผิดนัดเพื่อให้โจทก์ทั้งสองโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งแปลงให้แก่จำเลย สัญญาประนีประนอมยอมความที่มีข้อตกลงว่า หากโจทก์ทั้งสองผิดนัด โจทก์ทั้งสองยอมไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งแปลงให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้นั้นข้อตกลงในส่วนนี้ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ ในส่วนที่บังคับให้โจทก์ทั้งสองต้องโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1494 ทั้งแปลงให้แก่จำเลย และให้จำเลยรับชำระเงินที่โจทก์ทั้งสองค้างชำระ 245,000บาท พร้อมทั้งจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว หากจำเลยไม่ไปไถ่ถอนจำนองขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสองชอบที่จะว่ากล่าวกับจำเลยในคดีเดิม ไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองประการใดขึ้นใหม่ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมนั้นเป็นการบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามสัญญาที่คู่กรณีตกลงกันต่อหน้าศาล ข้อตกลงกันในส่วนที่จะบังคับชำระหนี้ด้วยวิธีการให้โจทก์ทั้งสองโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1494 ทั้งแปลงให้แก่จำเลยนั้นเป็นข้อตกลงที่ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้และคู่กรณีอาจจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินได้ตามที่ยอมความกัน สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับไป เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษาให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากโจทก์ทั้งสองเห็นว่าไม่ถูกต้องก็อาจจะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวได้ หากเข้ากรณีตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อุทธรณ์แล้ว และคดีถึงที่สุดไปแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ข้อที่โจทก์ทั้งสองอ้างตามฎีกาว่า ได้ปฏิบัติการชำระหนี้เงิน 245,000 บาท แก่จำเลยแล้วนั้น เป็นการอ้างว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีผลต่อการบังคับคดีที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้…”
พิพากษายืน.

Share