คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์อันเป็นการลดตำแหน่งลงต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนและงดจ่ายเงินโบนัส มีคำสั่งพักงานแล้วมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำ ความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์ กลับ เข้า ทำงานตามเดิม ให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง คือเงินเดือน เงินค่าเลี้ยงชีพ และ ค่าเช่าบ้านย้อนหลังนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่า จำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานเงินที่จำเลยมีคำสั่งลดขั้นเงินเดือน เงินโบนัสที่งดจ่าย เงินสะสมในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือน ที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายให้โจทก์ในปี 2528,2529 และ 2530 ถึงวัน เลิกจ้างพร้อมดอกเบี้ย หรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ย จำเลยมิได้ปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยแจ้งชัดถึงเรื่องเงินสะสมว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงไม่จ่ายเงินสะสมให้โจทก์และจำเลยไม่ได้ให้การถึงระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสะสมของพนักงาน คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์ หรือไม่ จำเลยต้องจ่ายเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง โจทก์ขอให้จำเลยเสียดอกเบี้ยเงินสะสมนับแต่วันเลิกจ้าง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่จ่ายเงินสะสมเมื่อใด ศาลฎีกาให้ คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า พ. ได้รับอนุมัติให้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารจำเลย สาขารังสิตก่อนที่โจทก์จะย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขารังสิต ขณะที่โจทก์ย้ายมานั้น พ. ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปแล้วจำนวน 1,304,382 บาท และหลังจากนั้น ผู้จัดการภาคกลาง 2 ก็ได้อนุมัติให้ พ. กู้เงินอีก 3,500,000 บาทส่วน การ ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. กู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน2,100,000 บาทนั้นเป็นกรณีที่ลูกค้าขอโอนภาระหนี้มาจากธนาคารจำเลย สาขาห้วยขวางโดยการอนุมัติของผู้จัดการภาคกลาง 2 โจทก์มิได้เป็นผู้อนุมัติให้กู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกเช่นเดียวกัน จำเลยอุทธรณ์ ว่า โจทก์อนุมัติให้ พ. และและห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ซึ่งมีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่แล้วเบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่าวงเงิน ตามสัญญา อันเป็นการขยายวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่า อำนาจของโจทก์ เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลาง รับฟังมา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ควบคุมดูแลให้ลูกค้า 2 รายดังกล่าว นำเงินชำระหนี้เพื่อลดจำนวนเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีให้อยู่ ภายในวงเงินตามสัญญานั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้อนุมัติให้ลูกค้า 2 ราย ดังกล่าว กู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นการขยายวงเงินกู้เบิกเงิน เกิน บัญชี เกินกว่า อำนาจดังนั้น แม้จะมีการควบคุมดูแลให้มีการ นำ เงิน ชำระหนี้ เพื่อ ลด จำนวนเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีก็ไม่ใช่ว่า จะทำให้ลูกค้ามีเงินมาชำระหนี้ได้เสมอไป โจทก์เป็นผู้จัดการสาขามีหน้าที่ในการอำนวยสินเชื่อให้แก่ ลูกค้าของธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อซ้ำซ้อนและอนุมัติในการรับซื้อ เช็ค ที่ มิใช่เป็นเช็คทางการค้าให้แก่ลูกหนี้ของธนาคาร แต่ ไม่ปรากฏ ว่า โจทก์กระทำการโดยไม่สุจริตและทำให้เกิดความเสียหาย แก่ จำเลย แต่อย่างใดการกระทำของโจทก์แม้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ เกี่ยวกับ การ ทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ก็มิใช่ เป็นกรณีร้ายแรง โจทก์ลงชื่อในรายงานการตรวจและประเมินราคาหลักทรัพย์ ที่ นำมาเป็นหลักประกันในการอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ได้ไปตรวจดู หลักทรัพย์แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานฟังว่า ผู้ช่วยผู้จัดการ สาขา ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อเป็นผู้ไป ตรวจ สภาพ หลักทรัพย์ และ เป็นผู้ทำรายงานตามทางเคยปฏิบัติกันมา และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนรู้เห็นในการตรวจหลักทรัพย์โดยมิชอบ ประการใด การที่โจทก์ทำการดังกล่าว แม้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ เกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ก็มิใช่ เป็นกรณีร้ายแรง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งไม่ได้มีการสอบสวนความผิดตามระเบียบการทำงานของจำเลย เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเท่าเดิม ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนเงินค่าเลี้ยงชีพ และเงินค่าเช่าบ้านให้โจทก์ย้อนหลังทุกเดือนนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยชำระเงินที่จำเลยมีคำสั่งลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 2 ขั้น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2530 เงินโบนัสที่จำเลยงดจ่ายในปี 2528, 2529 และ 2530 เงินสะสมในอัตราร้อยละ 10 เงินเดือนที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายให้โจทก์ในปี 2528, 2529 และ 2530 พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า ขณะที่โจทก์เป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขารังสิตนั้น โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยระเบียบของจำเลยมีพฤติกรรมชี้ชัดว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ จากการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์มีความผิดเกี่ยวกับความบกพร่องต่อหน้าที่ในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้โดยมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตน ไม่คำนึงถึงระเบียบหรือคำสั่งของธนาคาร ทุจริตต่อหน้าที่หรืออาศัยอำนาจหน้าที่หาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เช่นทำการประเมินหลักทรัพย์ประกันสูงเกินความเป็นจริงโดยเจตนาช่วยเหลือลูกหนี้ ปกปิดบิดเบือนข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญที่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อและเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย และขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าเลี้ยงชีพและเงินค่าเช่าบ้านตามฟ้องเพราะเงินดังกล่าวมิใช่เป็นเงินเดือนแต่เป็นเงินสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาเท่านั้น จำเลยไม่เคยสั่งลดเงินเดือนโจทก์และมิได้งดจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ ซึ่งก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้จ่ายเงินเดือนและเงินโบนัสให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างคำขออื่น ๆ ของโจทก์ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าเงินสะสมเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่พนักงานทุกคนที่ได้รับการบรรจุแล้ว อันถือว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าวและคำสั่งระเบียบงาน เรื่องลักษณะความผิดและระวางโทษพนักงานผู้กระทำความผิดไม่ได้กำหนดโทษทางวินัยให้งดจ่ายเงินสะสมแต่อย่างใด ถือได้ว่าเงินสะสมเป็นเงินที่โจทก์ควรได้รับ และในข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้แต่อย่างใด จึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับ คดีไม่มีประเด็นวินิจฉัยในเรื่องนี้ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์อันเป็นการลดตำแหน่งลง ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนและงดจ่ายเงินโบนัสมีคำสั่งพักงานแล้วมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างคือเงินเดือน ค่าเลี้ยงชีพและค่าเช่าบ้านย้อนหลังนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน เงินที่จำเลยมีคำสั่งลดขั้นเงินเดือน เงินโบนัสที่งดจ่าย เงินสะสมในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนที่ยังไม่ได้จ่ายให้โจทก์ในปี 2528, 2529และปี 2530 ถึงวันเลิกจ้างพร้อมด้วยดอกเบี้ยหรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยระเบียบของจำเลย มีพฤติกรรมชี้ชัดว่ากระทำการโดยทุจริตจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆจากจำเลย และไม่มีสิทธิขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าเลี้ยงชีพและค่าเช่าบ้านเพราะเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินเดือน จำเลยไม่เคยสั่งลดขั้นเงินเดือนโจทก์และมิได้งดจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ ซึ่งก่อนเลิกจ้างโจทก์นั้นจำเลยได้จ่ายเงินเดือนและเงินโบนัสให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยมิได้ปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยแจ้งชัดถึงเรื่องเงินสะสมว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงไม่จ่ายเงินสะสมให้โจทก์ และจำเลยไม่ได้ให้การถึงระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสะสมของพนักงาน คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์หรือไม่ ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตและปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการมิชอบเมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยก็ต้องจ่ายเงินสะสมพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ขอให้จำเลยเสียดอกเบี้ยเงินสะสมนับแต่วันเลิกจ้างนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่จ่ายเงินสะสมเมื่อใด จึงคิดดอกเบี้ยเงินสะสมให้นับแต่วันฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทำการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง โดยโจทก์ซึ่งมีอำนาจอนุมัติให้ลูกค้าที่มีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่แล้วขยายวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นการชั่วคราวออกไปได้อีกไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินเดิมในสัญญา แต่ต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทแต่โจทก์ได้อนุมัติให้นายไพศาล กีระติจิระนันท์ ลูกค้า ซึ่งมีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ภายในวงเงิน 700,000 บาท เบิกเงินเกินบัญชีอีกหลายครั้งหลายหน ทำให้มียอดเงินเบิกเกินบัญชีเป็นจำนวน1,893,209.02 บาท และอนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกลเด็นคีดีเวลโลบเมนท์ ซึ่งมีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้ภายในวงเงิน 2,100,000 บาทเบิกเงินเกินบัญชีจนมียอดเงินเบิกเกินบัญชีเป็นจำนวน 2,888,033.99บาท โจทก์ไม่ควบคุมดูแลให้นำเงินมาชำระหนี้เพื่อลดจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีให้อยู่ภายในวงเงินตามสัญญานอกจากนี้โจทก์ได้อนุมัติสินเชื่อซ้ำซ้อนต่างสำนักงานให้แก่ลูกหนี้ เช่น นายสุจิตศศิพันธ์โสภิต และ นางศรีรัตน์ ศรีสุข โดยไม่ได้สอบถามหรือตรวจสอบฐานะการเงินของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันก่อนก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบงานที่ 75/2524 และโจทก์ยังได้อนุมัติในการรับซื้อเช็คที่มิใช่เป็นเช็คทางการค้าให้แก่ลูกหนี้ในนามบัญชีต่าง ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้นำเช็คภายในกลุ่มของลูกหนี้มามาแลกเปลี่ยนกันเองแล้วนำมาขายลดให้แก่ธนาคาร อันเป็นการกระจายสินเชื่อภายในกลุ่มของลูกหนี้ซึ่งได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารเต็มวงเงินอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมได้อีก เช่นลูกหนี้ของกลุ่มนางประยงค์ ไพบูลย์วงศ์ นางสมใจคงพัฒนาตระกูล และนางพยุง บัวเผื่อนหอม เป็นการฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.25 และ ล.26 และในการตรวจหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่นายสำเภา จันทร์แก้วและนายพูลศักดิ์ จิรพิพัฒนสุข โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาต้องรับผิดในการประเมินหลักทรัพย์ได้ลงชื่อในรายงานการตรวจและประเมินราคาหลักทรัพย์โดยไม่ได้ไปตรวจดูหลักทรัพย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย พิเคราะห์แล้ว ในข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่านายไพศาลได้รับอนุมัติให้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารจำเลยสาขารังสิต ก่อนที่โจทก์จะย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขารังสิตซึ่งขณะที่โจทก์ย้ายมานั้น ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันของนายไพศาลว่านายไพศาลเบิกเงินเกินบัญชีไปแล้วจำนวน 1,304,382 บาท และหลังจากนั้นผู้จัดการภาคกลาง 2 ก็ได้อนุมัติให้นายไพศาลกู้เงินอีก3,500,000 บาท ส่วนการให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกลเด็นคีดีเวลโลบเมนท์กู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน 2,100,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่ลูกค้าขอโอนภาระหนี้มาจากธนาคารจำเลยสาขาห้วยขวาง โดยการอนุมัติของผู้จัดการภาคกลาง 2 โจทก์มิได้เป็นผู้อนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกลเด็นคีดีเวลโลบเมนท์กู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกเช่นเดียวกันในเรื่องการอนุมัติสินเชื่อให้แก่นายสำเภาและนายพูลศักดิ์นั้นเกินกว่าอำนาจของโจทก์ในฐานะผู้จัดการซึ่งจะต้องดำเนินการพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อสาขา แต่โจทก์ได้ลงชื่อในรายงานการตรวจและประเมินราคาหลักทรัพย์ซึ่งนำมาเป็นหลักประกันโดยมิได้ไปตรวจดูหลักทรัพย์ด้วยตนเอง เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่และโจทก์กระทำการเกี่ยวกับการอนุมัติสินเชื่อซ้ำซ้อนอนุมัติสินเชื่อกลุ่ม รับซื้อลดเช็คที่มิใช่เช็คทางการค้า เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์อนุมัติให้นายไพศาลและห้างหุ้นส่วนจำกัดโกลเด็นคีดีเวลโลบเมนท์ซึ่งมีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่แล้วเบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่าวงเงินตามสัญญา อันเป็นการขยายวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่าอำนาจของโจทก์นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ซึ่งต้องห้ามิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ควบคุมดูแลให้ลูกค้า 2 รายดังกล่าวนำเงินชำระหนี้เพื่อลดจำนวนเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีให้อยู่ภายในวงเงินตามสัญญาอนุมัติสินเชื่อซ้ำซ้อนต่างสำนักงานให้แก่ลูกค้าและอนุมัติในการรับซื้อเช็คที่มิใช่เป็นเช็คทางการค้าให้แก่ลูกหนี้ และโจทก์ลงชื่อในรายงานการตรวจและประเมินหลักทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันในการอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ได้ไปตรวจดูหลักทรัพย์นั้นเห็นว่าโจทก์ไม่ได้อนุมัติให้นายไพศาลและห้างหุ้นส่วนจำกัดโกลเด็นคีดีเวลโลบเมนท์กู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นการขยายวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่าอำนาจ แม้จะมีการควบคุมดูให้มีการนำเงินชำระหนี้เพื่อลดจำนวนเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้ลูกค้ามีเงินมาชำระหนี้ได้เสมอไป ที่โจทก์อนุมัติสินเชื่อซ้ำซ้อนและอนุมัติในการรับซื้อเช็คที่มิใช่เป็นเช็คทางการค้าให้แก่ลูกหนี้นั้น ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ในการอำนวยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำการโดยไม่สุจริตและทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่อย่างใด ส่วนที่ว่าโจทก์ลงชื่อในรายงานการตรวจและประเมินราคาหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันในการอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ได้ไปตรวจดูหลักทรัพย์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังว่านายประสงค์ รัตนศิริพงษา ผู้ช่วยผู้จัดการสาขารังสิต ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อเป็นผู้ไปตรวจสภาพหลักทรัพย์และเป็นผู้ทำรายงานตามทางที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนรู้เห็นในการตรวจหลักทรัพย์ โดยมิชอบประการใดการที่โจทก์ทำการดังกล่าวอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยจึงมิใช่เป็นกรณีร้ายแรง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินสะสมพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์อีกด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share