คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10077/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การยกเหตุแห่งการปฏิเสธในประเด็นฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่เพียงว่าโจทก์บรรยายฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยประกอบธุรกิจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งแยกกันได้เป็นคนละมูลหนี้ โจทก์ไม่สามารถนำมาฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้แบ่งแยกว่าหนี้ใดเป็นของจำเลยที่ 1 หนี้ใดเป็นของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเข้าใจว่าหนี้ดังกล่าวเป็นมูลหนี้อะไรตามสัญญาใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมกลับกล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความงวดใดถึงกำหนดชำระ งวดใดยังไม่ถึงกำหนดชำระ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคนละเหตุกับที่ได้ให้การไว้ในศาลชั้นต้น จึงถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 2,905,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,800,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 2,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวอรรัตน์ ทายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การยกเหตุแห่งการปฏิเสธในประเด็นฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่เพียงว่า โจทก์บรรยายฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยประกอบธุรกิจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งแยกกันได้เป็นคนละมูลหนี้ โจทก์ไม่สามารถนำมาฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้แบ่งแยกว่าหนี้ใดเป็นของจำเลยที่ 1 หนี้ใดเป็นของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเข้าใจว่าหนี้ดังกล่าวเป็นมูลหนี้อะไร ตามสัญญาใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมกลับกล่าวอ้างว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความงวดใดถึงกำหนดชำระงวดใดยังไม่ถึงกำหนดชำระ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง เห็นได้ชัดว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวยกเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเป็นคนละเหตุกับที่ได้ให้การไว้ในศาลชั้นต้น จึงถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประการที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 5 จะถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้งวดที่ 6 ถึงที่ 10 มิได้ ทั้งโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้เฉพาะงวดที่ 2 ถึงที่ 4 เท่านั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวยกข้ออ้างขึ้นใหม่ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยกขึ้นต่อสู้ ได้ในคำให้การ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เช่นกันที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share