คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10002/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ ญาติของโจทก์และผู้เช่าที่ดินพร้อมบ้านของโจทก์ต่างได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมแม้ที่ดินของจำเลยทั้งสองจะมีการโอนต่อกันมาหลายครั้งจนมาถึงจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และบริวารได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินดังกล่าวติดต่อกันมาโดยเจ้าของที่ดินที่รับโอนต่อกันมาจนถึงจำเลยทั้งสองต่างก็ทราบดีและไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน สิทธิในอันที่จะใช้ในทางพิพาทและระยะเวลาในการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาถูกกระทบหรือสะดุดหรือหยุดลงไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทติดต่อกันตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาในปี 2530 จนถึงปี 2542 ที่จำเลยทั้งสองทำการถมดินและล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการใช้เกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้ว
โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะเท่านั่น และโดยสภาพของทางพิพาทก็ไม่อาจใช้เป็นทางให้ยานพาหนะผ่านได้ นอกจากนี้ โจทก์และบุคคลที่เช่าบ้านของโจทก์เดินผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองออกสู่ทางสาธารณะโดยต้องเดินเลียบข้างเสาซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้เพื่อปลูกบ้าน ซึ่งมีความกว้างไม่ถึง 2 เมตร ประกอบกับทางพิพาทส่วนที่ความกว้างที่สุดประมาณ 150 เซนติเมตร และส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 120 เซนติเมตร จึงเห็นควรกำหนดให้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองกว้าง 120 เซนติเมตร เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนทางภาระจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 6 เมตร ตลอดแนวที่ดินจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วลวดหนามซึ่งปิดทางและทำที่ดินให้เป็นตามสภาพเดิม
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า ให้ทางพิพาทตามหมายสีแดงในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 127003 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วลวดหนามที่ปิดกั้นทางและทำทางให้เป็นสภาพเดิม ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนภาระจำยอมลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 78644 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ของจำเลยทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 127003 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมบ้านเลขที่ 39/30 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว โดยซื้อมาจากนางแจ่ม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย จ.2 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 76844 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกโดยที่ดินแปลงดังกล่าวนายบุญยิ่ง บิดาของจำเลยที่ 1 ซื้อมาจากนายสนั่น เมื่อปี 2524 ต่อมาปี 2539 ได้ยกให้แก่พันจ่าอากาศตรีวีรยุทธ น้องชายของจำเลยที่ 1 และในปี 2537 พันจ่าอากาศตรีวีรยุทธ ได้จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยทั้งสองตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยจำเลยทั้งสองจะต้องเดินผ่านที่ดินของนางประกอบ จึงจะออกสู่ทางเดินปูด้วยแผ่นปูนและออกสู่ถนนสาธารณะได้ ส่วนโจทก์ก็จะต้องเดินผ่านริมที่ดินของจำเลยทั้งสองทางทิศเหนือจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก และผ่านที่ดินของนางประกอบออกสู่ทางเดินปูด้วยแผ่นปูนเช่นกันตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาปี 2541 ทางราชการได้ตัดถนนสายเลี่ยงเมืองนนทบุรี-สนามบินน้ำ ทำให้ที่ดินของจำเลยทั้งสองถูกเวนคืนไปบางส่วน ตามแผนที่สังเขปและแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.4 และ จ.ล.1 ต่อมาปี 2542 จำเลยทั้งสองจึงนำดินมาถมและนำเสามาปักล้อมด้วยลวดหนามปิดกั้นทางพิพาทที่โจทก์เคยใช้เดินผ่านเข้าออกตามภาพถ่ายหมาย จ.5 ภาพที่ 3 ถึง 7 ทำให้โจทก์และผู้เช่าบ้านของโจทก์ใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกสู่ถนนสาธารณะไม่ได้ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยทั้งสองว่า ทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ ญาติของโจทก์และผู้เช่าที่ดินพร้อมบ้านของโจทก์ต่างได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมติดต่อกันตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาในปี 2530 จนถึงปี 2542 ที่จำเลยทั้งสองทำการถมดินและล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นทางพิพาท จึงเป็นการใช้เกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์และนางสาวอรุณี พยานโจทก์เบิกความขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะนางสาวอรุณี เบิกความว่า ครั้งแรกโจทก์มาอยู่ที่บ้านของโจทก์ต่อมาจึงให้ญาติโจทก์อยู่ หลังจากนั้นก็มีผู้มาเช่าบ้าน แต่ต่อมากลับเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า โจทก์ไม่ได้มาพักอาศัย แต่ไป ๆ มา ๆ เพื่อดูแลบ้าน จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เริ่มใช้ทางพิพาทตั้งแต่เมื่อใด และใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลาถึง 10 ปี หรือไม่นั้น เห็นว่า คำเบิกความของนางสาวอรุณี ในตอนแรกและตอนต่อมาดังกล่าวยังรับฟังไม่ได้ชัดว่าเป็นการขัดแย้งกัน เพราะที่เบิกความในตอนหลังว่า โจทก์ไม่ได้มาพักอาศัย แต่ไป ๆ มา ๆ เพื่อดูแลบ้านนั้น อาจจะเป็นการเบิกความถึงตอนที่โจทก์ย้ายออกจากบ้านไปและให้บุคคลอื่นมาเช่าบ้านอยู่อาศัยแล้ว จึงต้องคอยมาดูแลเพื่อซ่อมแซมบ้านอยู่บ่อย ๆ ก็เป็นได้จึงหาเป็นพิรุธที่จะทำให้พยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทติดต่อกันมาถึง 10 ปีแต่อย่างใดไม่ และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อโจทก์เข้ามายึดถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโจทก์ ที่ดินของจำเลยทั้งสองมีการโอนและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ต่อมาหลายครั้ง โดยปี 2534 บิดาของจำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมยกให้แก่พันจ่าอากาศตรีวีรยุทธ และต่อมาปี 2537 พันจ่าอากาศตรีวีรยุทธจึงขายให้แก่จำเลยทั้งสอง การที่โจทก์ครอบครองใช้ทางพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจึงถูกกระทบสิทธิมาโดยตลอด โจทก์จึงไม่ได้ครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาถึง 10 ปีนั้น เห็นว่า แม้ที่ดินของจำเลยทั้งสองจะมีการโอนต่อกันมาหลายครั้งจนมาถึงจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และบริวารได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะติดต่อกันมาโดยเจ้าของที่ดินที่รับโอนต่อกันมาจนถึงจำเลยทั้งสองต่างก็ทราบดีและมิได้โต้แย้งคัดค้าน สิทธิในอันที่จะใช้ทางพิพาทและระยะเวลาการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาถูกกระทบหรือสะดุดหยุดลงไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลาถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมตามกฎหมาย คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมีรูปเรื่องและข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงล้วนแต่ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ทางพิพาทมีความกว้างเท่าใด ปัญหานี้จำเลยทั้งสองได้ให้การไว้แล้วว่าทางพิพาทมีความกว้างไม่เกิน 80 เซนติเมตร มิใช่กว้าง 2 เมตร ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะพิพากษาให้ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้วินิจฉัยในปัญหานี้ไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหานี้มาด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ในปัญหานี้ได้ความว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะเท่านั้น และโดยสภาพของทางพิพาทก็ไม่อาจใช้เป็นทางให้ยานพาหนะผ่านได้ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และนางสมลักษณ์พยานของจำเลยทั้งสองตรงกันว่า โจทก์และบุคคลที่เช่าบ้านของโจทก์เดินผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสอง ออกสู่ทางสาธารณะโดยต้องเดินเลียบข้างเสาซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้เพื่อปลูกบ้าน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะมีความกว้างไม่ถึง 2 เมตร เมื่อฟังประกอบกับรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งออกไปเดินเผชิญสืบในวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ที่ระบุว่า วัดทางพิพาทส่วนที่มีความกว้างที่สุดได้ประมาณ 150 เซนติเมตร และส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 120 เซนติเมตรแล้ว จึงเห็นควรกำหนดให้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองกว้าง 120 เซนติเมตร เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทางพิพาทตามหมายสีแดงในแผนที่พิพาท เอกสารหมาย จ.ล.1 กว้าง 120 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวจรดถนนสาธารณะ เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 127003 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share