แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์อันได้แก่ราคาอสังหาริมทรัพย์และดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นจะมีผลเป็นบุริมสิทธิก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนบอกไว้เมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่มีบุริมสิทธิแต่อย่างใด
ย่อยาว
คดีนี้ สืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดที่ 13เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย ทรัพย์ที่ยึดในคดีนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดมูลหนี้ตามคำพิพากษาต่อผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์ที่ยึด ผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้จากการจำหน่ายทรัพย์ที่ยึดโดยบุริมสิทธิพิเศษ
โจทก์แถลงไม่คัดค้านคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องโดยยอมรับว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำลยจริง แต่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ค่าซื้อที่ดินแปลงที่โจทก์นำยึดนี้ โจทก์จึงมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือที่ดินแปลงนี้ ผู้ร้องแถลงว่า โจทก์ไม่มีบุริมสิทธิในทรัพย์ที่ยึด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บอกลงทะเบียนราคาหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 288 โจทก์จึงไม่มีบุริมสิทธิในทรัพย์ที่ยึด ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์รายนี้ได้ตามขอ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ ผู้ร้องที่ 2 และนางเป้าซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 139 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยในราคา 408,000 บาท ได้รับชำระเงินในวันนั้น 118,000 บาทที่เหลือจำเลยสั่งจ่ายเป็นเช็ค 3 ฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายเงิน 25,000 บาท ฉบับที่สอง 100,000 บาท ฉบับที่สาม 165,000 บาท เช็คฉบับแรกขึ้นเงินได้แล้วที่เหลืออีกสองฉบับ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้นำเช็คฉบับที่สองไปฟ้องเรียกเงินจากจำเลย และผู้ร้องที่ 2 นำเช็คฉบับที่สามไปฟ้องเรียกเงินจากจำเลยศาลพิพากษาให้โจทก์และผู้ร้องที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำยึดที่ดินแปลงที่ขายให้จำเลยขายทอดตลาด และขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 273 และ 276 โดยมิได้จดทะเบียนบอกราคาหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 288 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะมีบุริมสิทธิในราคาที่ดินและดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีบุริมสิทธิพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 273 และ 276 แล้ว กรณีไม่จำต้องนำบทบัญญัติในมาตรา 288 มาร่วมใช้บังคับอีก ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 288 มีความหมายว่า บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์อันได้แก่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างชำระและดอกเบี้ยในราคาที่ค้างชำระนั้น จะมีผลเป็นบุริมสิทธิก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนบอกไว้เมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนบอกราคาที่ค้างชำระและดอกเบี้ยไว้ โจทก์จึงไม่มีบุริมสิทธิแต่อย่างใด คำพิพากษาฎีกาที่ 1135/2477 ที่โจทก์อ้างมา เป็นบุริมสิทธิในมูลซื้อขายสังหาริมทรัพย์ จะนำมาเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้หาได้ไม่
พิพากษายืน