คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8690/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

“ค่าจ้าง” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ข้อตกลงของจำเลยที่จะจัดหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ หากยังหารถไม่ได้จะให้ค่าเช่ารถยนต์เดือนละ 22,000 บาท แสดงให้เห็นว่า มีการกำหนดให้จำเลยจัดหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์เป็นหลัก โดยมีข้อยกเว้นว่า หากยังหารถให้ไม่ได้ก็ให้จ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์ หากต่อมาจำเลยสามารถหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ได้เมื่อใด ก็ไม่จำต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์ต่อไป ค่าเช่ารถยนต์ตามข้อตกลงจึงถือว่าเป็นสวัสดิการ มิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน แม้จะจ่ายเงินจำนวนแน่นอนเท่า ๆ กันทุกเดือนก็มิใช่ค่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกและนายสุปัญญาได้ร่วมกันจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรกิจประกันสุขภาพ ค่าจ้างเดือนละ 97,000 บาทซึ่งรวมค่าพาหนะเดือนละ 22,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ทั้งนี้การปฏิบัติงานของโจทก์และพนักงานในฝ่ายธุรกิจประกันสุขภาพอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายสุปัญญา ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2541 จำเลยทั้งหกโดยเจตนาไม่สุจริตได้ร่วมกันประกาศยุบหน่วยงานฝ่ายธุรกิจประกันสุขภาพ เพื่อลดบทบาทการบริหารงานของนายสุปัญญา แล้วเลิกจ้างโจทก์กับพนักงานในฝ่ายเดียวกันรวม 5 คน โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเพียง 5 วัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันจ่ายค่าจ้างสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 194,699 บาท กับค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 11,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จำเลยจำต้องลดจำนวนบุคลากรรวมทั้งโจทก์เพื่อให้กิจการของจำเลยอยู่ต่อไป โจทก์ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 75,000 บาท ส่วนอีก 22,000 บาท เป็นค่าพาหนะที่จำเลยให้โจทก์ใช้เดินทางไปปฏิบัติงานแก่จำเลย ในการเลิกจ้างจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยเก้าสิบวันและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ของอัตราค่าจ้างสุดท้ายแก่โจทก์เป็นเงินรวม 300,000 บาท แล้ว และจำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ไปรับ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ใช่นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้าง แต่เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6 ศาลแรงงานกลางอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 และที่ 6

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์แล้ว ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนั้น จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์แล้วรวมเป็นเงิน 300,000บาท ตามเอกสารหมาย ล.4 จำเลยที่ 1 ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกทั้งลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างพร้อมโจทก์มีจำนวน 13 คน และอยู่คนละฝ่ายหรือส่วนงานกับโจทก์ พฤติการณ์แห่งคดีไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ยังฟังไม่ได้ว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างที่ขาดไปในเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นเงิน 22,000 บาท ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์ถูกเลิกจ้างแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างดังกล่าว ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ก็ได้รับไปแล้วตามเอกสารหมาย ล.29 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องอีกคงมีประเด็นวินิจฉัยเฉพาะเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยซึ่งต้องวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเท่าใด จำเลยนำสืบว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 75,000 บาท ส่วนโจทก์นำสืบว่าได้รับค่าจ้างเดือนละ 97,000 บาท แยกเป็นเงินเดือน 75,000 บาท และค่าเช่ารถยนต์ 22,000 บาท โดยเป็นการเหมาจ่ายทุกเดือน เห็นว่า จำเลยนำสืบยอมรับว่ามีข้อตกลงพิเศษกับโจทก์ว่าจะหารถประจำตำแหน่งให้ แต่ถ้าหากยังหารถไม่ได้ก็จะให้ค่าเช่ารถเดือนละ 22,000 บาท และปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าเช่ารถแก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือน ค่าเช่ารถดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นค่าจ้าง ต้องนำมารวมคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย จำเลยที่ 1 บอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2541 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ 1 เดือน เป็นเงิน 97,000 บาท และโจทก์ ทำงานครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน เป็นเงิน 291,000 บาท รวมสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเป็นเงิน388,000 บาท จำเลยที่ 1 จ่ายแก่โจทก์แล้ว 300,000 บาท ยังขาดอยู่อีก 88,000 บาทพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์อีก 88,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ค่าเช่ารถยนต์หรือค่าชดเชยรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์ทุกเดือนเดือนละ22,000 บาท นั้น เป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 5 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ แต่ถ้าหากยังหารถไม่ได้ก็จะให้ค่าเช่ารถยนต์เดือนละ 22,000 บาท ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่ามีการกำหนดให้จำเลยที่ 1 หารถประจำตำแหน่งให้โจทก์เป็นหลัก มีข้อยกเว้นว่าหากยังหารถให้ไม่ได้ก็ให้จ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์เดือนละ 22,000 บาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะยังหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ไม่ได้จึงต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์เดือนละ 22,000 บาท ไปแล้วกี่เดือนก็ตาม หากต่อมาจำเลยที่ 1 สามารถหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ได้ตามข้อตกลงเมื่อใด จำเลยที่ 1 ก็ไม่จำต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์อีกต่อไป ดังนั้น ค่าเช่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์เดือนละ22,000 บาท ตามข้อตกลงในระหว่างที่ยังจัดหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ไม่ได้ถือว่าเป็นสวัสดิการมิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานแม้จะจ่ายเงินจำนวนแน่นอนเท่า ๆ กันทุกเดือน ก็มิใช่ค่าจ้าง การที่ศาลแรงงานกลางนำเอาค่าเช่ารถยนต์เดือนละ 22,000 บาท ไปคิดรวมเป็นค่าจ้างของโจทก์เป็นเงินเดือนละ97,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกเป็นค่าจ้างเพียงเดือนละ 75,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1 จำนวน 1 เดือน จึงเป็นเงินเพียง75,000 บาท และค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน เป็นเงิน 225,000บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 300,000 บาท เท่ากับจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเงินดังกล่าวได้อีก อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวซึ่งมีมูลหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31″

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share