คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11993/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและผู้บริโภคทั้งสิบสามรายได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แก่ผู้บริโภคทั้งสิบสามรายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยได้รับเงินจากผู้บริโภคแต่ละรายหลายครั้งหลายจำนวนจึงต้องเสียดอกเบี้ยของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่เวลาที่ได้รับเงินแต่ละจำนวนไว้แต่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่เวลาที่จำเลยได้รับเงินครั้งสุดท้ายจากผู้บริโภคแต่ละราย จึงกำหนดให้ตามคำขอของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคทั้งสิบสามรายนับแต่เวลาที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืนแก่ผู้บริโภคแต่ละรายนั้นจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินจากการผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่นางเรวดีจำนวน 599,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นายสมพงษ์จำนวน453,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นายระพินธ์ จำนวน 255,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นางสาวสมศรีและนายกะลันจำนวน 166,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นางนฤมล จำนวน 215,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นางธนวรรณหรืออัจฉราหรืออัญชภรณ์จำนวน 280,944 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นางสาวปิยวรรณจำนวน 683,496 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นางแก้วกาญจ์จำนวน 398,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นางวิไลจำนวน 378,018 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นางณัฐนีจำนวน 256,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นางจิตรลดาจำนวน 319,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินแก่นายสุทธิพงษ์จำนวน 488,217 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และชำระเงินแก่นางสาวนิภาหรือธัญยธรณ์จำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 599,100 บาท แก่นางเรวดีจำนวน 453,600 บาท แก่นายสมพงษ์จำนวน 255,000 บาท แก่นายระพินธ์จำนวน 166,000 บาท แก่นางสมศรีและนายกะลันจำนวน 280,944 บาท แก่นางธนวรรณหรืออัจฉราหรืออัญชภรณ์ และจำนวน 683,496 บาท แก่นางสาวปิยวรรณ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่ต้องชำระแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ชำระเงินจำนวน 398,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่นางแก้วกาญจน์ ชำระเงินจำนวน 378,018 บาท แก่นางวิไล จำนวน 256,300 บาท แก่นางณัฐินี และจำนวน 319,000 บาท แก่นางจิตรลดา พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่ต้องชำระแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ชำระเงินจำนวน 488.217 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่นายสุทธิพงษ์ และชำระเงินจำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่นางสาววนิภาหรือธัญยธรณ์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้บริโภคทั้งสิบสามรายทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยและชำระเงินบางส่วนให้แก่จำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยผิดสัญญา ผู้บริโภคจึงบอกสัญญา มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคทั้งสิบสามรายตั้งแต่เมื่อใด ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 บัญญัติว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่” และในวรรคสอง บัญญัติว่า “ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้นท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้” ดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและผู้บริโภคทั้งสิบสามรายได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แก่ผู้บริโภคทั้งสิบสามรายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่เวลาที่ได้รับไว้ จำเลยได้รับเงินจากผู้บริโภคแต่ละรายหลายครั้งหลายจำนวนจึงต้องเสียดอกเบี้ยของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่เวลาที่ได้รับเงินแต่ละจำนวนไว้ แต่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่เวลาที่จำเลยได้รับเงินครั้งสุดท้ายจากผู้บริโภคแต่ละราย จึงกำหนดให้ตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคทั้งสิบสามรายนับแต่เวลาที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืนแก่ผู้บริโภคแต่ละรายนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่นางเรวดีนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2541 นายสมพงษ์นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2540 นายระพินธ์นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2540 นางสาวสมศรีและนายกะลันนับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 นางนฤมลนับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2540 นางธนวรรณหรืออัจฉราหรืออัญชภรณ์นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 นางสาวปิยวรรณนับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 นางแก้วกาญจน์นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2540 นางวิไลนับแต่วันที่ 28 กันยายน 2540 นางณัฐินีนับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 นางจิตรลดานับแต่วันที่ 16 มกราคม 2541 นายสุทธิพงษ์นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 และนางสาวนิภาหรือธัญยธรณ์นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2543 จนกว่าจำชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share