คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 ห้ามฟ้อง ในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน จากที่ตกลงซื้อขายกันเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ ดังนั้น หากผู้ซื้อต้องการเรียกร้องให้ผู้ขายส่งมอบที่ดิน ที่ขาดจำนวนเพื่อให้ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกัน ผู้ซื้อต้องฟ้องให้ผู้ขายรับผิดส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดดังกล่าวแก่ผู้ซื้อภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนซื้อขาย โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดตกบกพร่อง จากจำนวนที่ซื้อขายกันแก่โจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องโจทก์ฟ้อง เรียกเงินค่าซื้อที่ดินส่วนที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปบางส่วน คืนด้วยเหตุที่จำเลยส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายกันขาดตกบกพร่องจากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน และจำเลยไม่อาจอ้างกฎหมาย ที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยชอบ จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์ คืนฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 กรณีต้องบังคับด้วยอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตาม มาตรา 419 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่ เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น โจทก์จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน กันเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 อันถือได้ว่าจำเลยได้ส่งมอบที่ดิน ที่ซื้อขายกันให้แก่โจทก์โดยชอบในวันดังกล่าว สิทธิที่โจทก์ จะเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินฐานลาภมิควรได้เกิดขึ้นแล้ว แต่โจทก์เพิ่งมารู้ว่าที่ดินที่ซื้อจากจำเลยขาดตกบกพร่อง จำนวนไปเมื่อได้มีการเปลี่ยนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินจาก หนังสือรับรองการทำประโยชน์มาเป็นโฉนดที่ดินที่ทางราชการ ออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 และนำคดีมาฟ้อง เรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2536จึงยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการซื้อขายกัน เป็นอย่างอื่น การปฏิบัติต่อกันตามสัญญาซื้อขายทั่วไปจึงต้องถือ อายุความทั่วไปสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับ โจทก์และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพียงว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายกัน ตามฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เท่านั้น การที่ จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องที่จำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์ ครบถ้วนแล้วและที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ขาดไปเพราะถูกกัน เป็นถนนและในปัญหาอื่นนอกจากนี้ขึ้นมาแม้จำเลยจะได้ นำสืบไว้ก็ถือว่าเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็น ข้อพิพาทถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งการที่ที่ดินที่ซื้อขายจะส่งมอบให้แก่กันขาดจำนวนมากน้อยเพียงใดและด้วยเหตุใดนั้น ไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาเหล่านี้ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 225 ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2533 จำเลยทำสัญญาแบ่งขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 14 ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ8 ไร่ ที่อยู่ด้านทิศเหนือติดทางสาธารณะให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ200,000 บาท ซึ่งจำเลยต้องขอรังวัดแบ่งแยกก่อน โดยโจทก์วางเงินมัดจำแล้ว 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2533จำเลยขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ตกลงขายให้แล้วตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2974ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เนื้อที่ 8 ไร่1 งาน 76 ตารางวา หลังจากนั้นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533โจทก์จำเลยจึงจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันที่สำนักงานที่ดินโดยโจทก์ชำระเงินที่เหลืออีก 1,588,000 บาท ให้แก่จำเลยต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 กรมที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 18440 แต่เมื่อรังวัดตรวจสอบแล้วมีเนื้อที่เพียง 6 ไร่ 44 ตารางวา ทั้งนี้เพราะมีมีการรังวัดคำนวณเนื้อที่ในขณะจำเลยแบ่งขายผิดพลาด ทำให้โจทก์ได้ที่ดินน้อยกว่าที่ตกลงซื้อจากจำเลยเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน31 ตารางวา โจทก์จึงชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยเกินจากจำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกต้อง เป็นเงิน 465,500 บาท ซึ่งโจทก์แจ้งผลการตรวจสอบที่ดินให้จำเลยทราบและให้คืนเงินจำนวนดังกล่าวแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 465,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 465,500 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2533จำเลยตกลงแบ่งขายที่ดินของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 14 ตำบลชากโดน อำเภอแกลงจังหวัดระยอง เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา ให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ราคาไร่ละ 200,000 บาท ซึ่งจำเลยได้ขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในนามของจำเลยเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2974 ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ระบุเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 จำเลยจึงจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2974ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 180,000 บาท ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรตามนโยบายของ รัฐบาล ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 18440 ตำบลชากโดน อำเภอแกลงจังหวัดระยอง โดยออกให้โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535ระบุมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา โจทก์จึงร้องขอให้สอบเขตเนื้อที่ดินใหม่ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินให้โจทก์ใหม่แล้วเมื่อวันที่ 19 และ 20 พฤษภาคม 2536 ปรากฏว่าได้เนื้อที่ 6 ไร่ 44 2/10 ตารางวา ขาดจำนวนที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกันเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 31 ตารางวา โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินที่ชำระค่าที่ดินส่วนที่ขาดคืนจากจำเลย465,500 บาท เป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องอายุความตามที่จำเลยฎีกาว่าการที่โจทก์ฟ้องว่าได้ชำระค่าที่ดินที่ซื้อขายเนื้อที่ 8 ไร่1 งาน 76 ตารางวา ให้แก่จำเลยแล้ว ต่อมาปรากฏว่าโจทก์ได้ที่ดินน้อยกว่าที่ตกลงซื้อขายกันเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน31 ตารางวา จึงเรียกราคาที่ชำระคืน เป็นการฟ้องให้รับผิดเพื่อการส่งมอบทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 โจทก์ต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 ที่บัญญัติว่า “ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ”นั้น เป็นการห้ามฟ้องในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนจากที่ตกลงซื้อขายกันเท่านั้น หากโจทก์ต้องการเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินที่ขาดจำนวนไปอีก 2 ไร่ 1 งาน 31 ตารางวา เพื่อให้ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ต้องฟ้องให้จำเลยรับผิดส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดดังกล่าวแก่โจทก์ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายกันให้แก่โจทก์คือวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 อันเป็นวันที่ได้จดทะเบียนซื้อขายโอนสิทธิครอบครองที่ดินกันตามเอกสารหมาย จ.6 นั่นเองแต่คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดตกบกพร่องจากจำนวนที่ซื้อขายกันแก่โจทก์เลย กรณีเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อที่ดินส่วนที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปบางส่วนจำนวน 465,500 บาท คืน ด้วยเหตุที่จำเลยส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายกันขาดตกบกพร่องจากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 31 ตารางวา ซึ่งจำเลยไม่อาจอ้างกฎหมายที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยชอบ จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยชอบแล้ว ดังนั้นจะนำเอาอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 เช่นที่จำเลยฎีกามาใช้บังคับไม่ได้ กรณีต้องบังคับด้วยอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ที่บัญญัติว่า”ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น” ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกัน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 ตามเอกสารหมาย จ.6 อันถือได้ว่าจำเลยได้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายกันให้แก่โจทก์โดยชอบในวันดังกล่าว สิทธิที่โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินฐานลาภมิควรได้เกิดขึ้นแล้ว แต่โจทก์เพิ่งมารู้ว่าที่ดินที่ซื้อจากจำเลยขาดตกบกพร่องจำนวนไปเมื่อได้มีการเปลี่ยนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มาเป็นโฉนดที่ดินที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2536 จึงยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี
ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2533 โจทก์ต้องดำเนินคดีแก่จำเลยตามหลักทั่วไปของการซื้อขายภายในสองปี นับแต่วันมีการซื้อขายซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 19 กรกฎาคม 2535 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสองปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความอีกเช่นกันนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญาลักษณะ 1 ว่าด้วยซื้อขาย หมวด 1 สภาพและหลักสำคัญของสัญญาซื้อขายส่วนที่ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไปกำหนดเรื่องอายุความไว้เฉพาะความรับผิดในการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนตามมาตรา 467 ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่ซื้อขายกันตามมาตรา 474 และความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิทรัพย์ที่ซื้อขายกันตามมาตรา 481 ให้มีอายุความหนึ่งปี หนึ่งปีและสามเดือน ตามลำดับแล้ว ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการซื้อขายกันเป็นอย่างอื่น การปฏิบัติต่อกันตามสัญญาซื้อขายทั่วไปจึงต้องถืออายุความทั่วไปสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่สองปีดังเช่นจำเลยเข้าใจตามที่ฎีกาไม่ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายอื่นใดอีก แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินที่ชำระเกินส่วนไป อันเป็นเรื่องลาภมิควรได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ในปัญหาเรื่องที่จำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว และที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ขาดไปเพราะถูกกันเป็นแนวถนน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ชัดแจ้งในคำให้การและมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคลาดเคลื่อนเพราะอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบนั้นเห็นว่า ในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่ทั้งโจทก์จำเลยต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยคงให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วคดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพียงว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายกันตามฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เท่านั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ปัญหาอื่นนอกจากนี้ขึ้นมาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแม้จำเลยจะได้นำสืบไว้ก็ถือว่าเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาท ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งการที่ที่ดินที่ซื้อขายจะส่งมอบให้แก่กันขาดจำนวนมากน้อยเพียงใดและด้วยเหตุใดนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 จึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share