คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 764/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำนองที่ดินไว้กับธนาคารจำเลยเป็นประกันสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของบริษัท อ. หนี้ตามบัญชีเดินสะพัดระหว่างบริษัท อ. กับจำเลยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นหนี้ที่สั่งจ่ายเป็นเช็คเสมอไป หากเป็นหนี้ส่วนที่ตกลงให้มีบัญชีกันแล้ว จะเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาหรือมูลอื่นก็ย่อมลงบัญชีกันได้ บริษัท อ. เคยยินยอมให้จำเลยเอาหนี้รับจำนำใบประทวนสินค้าที่บริษัท อ. เป็นลูกหนี้บริษัทในเครือเดียวกับธนาคารจำเลย รวมทั้งหนี้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในการจำนำใบประทวนสินค้ามาลงในบัญชีเดินสะพัดที่บริษัท อ. เบิกเงินเกินบัญชี การลงบัญชีเดินสะพัดนั้นมีการแจ้งยอดหนี้พร้อมทั้งรายการให้โจทก์ทราบตลอดมาทุกระยะโจทก์ก็ไม่คัดค้าน และโจทก์ในฐานะกรรมการจัดการของบริษัท อ.ยังได้ลงชื่อรับรองยอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดของบริษัทอ. อีกด้วย วิธีการที่จำเลยเอาหนี้ดังกล่าวมาลงในบัญชีนั้น เป็นวิธีการตามลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด หาอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องแปลงหนี้ใหม่ไม่ เมื่อปรากฏว่าบริษัท อ. ยังเป็นลูกหนี้จำเลยอยู่ โจทก์ก็ต้องรับผิดชำระหนี้แทนตามสัญญาจำนอง
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 เป็นบทบังคับของกฎหมายพิเศษในเรื่องการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย มิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเหมือนคดีแพ่งสามัญ หาใช่เป็นบทบังคับของกฎหมายทั่วไปว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ฉะนั้น แม้บริษัท อ. ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ผู้ทำสัญญาจำนองเป็นประกันโดยไม่จำกัดความรับผิดซึ่งถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งธรรมดาให้รับผิดแทนลูกหนี้จึงไม่อาจยกกฎหมายมาตรานี้ขึ้นต่อสู้เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 229/2506)
เมื่อบริษัท อ. ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเดินสะพัดของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและคิดหักทอนบัญชีกันและถือได้ว่าเป็นการเรียกร้องเงินค้างชำระและลูกหนี้ผิดนัดในตัวแล้ว จำเลยจะคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไปหาได้ไม่(เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 658-659/2511)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ขอให้จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันเงินที่โจทก์ขอกู้จากจักรพงษ์มูลนิธิเป็นเงิน 300,000 บาทตามสัญญากู้ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2496 ในการนี้โจทก์ได้มอบที่ดินของโจทก์เลขที่ 4635 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พร้อมกับโจทก์ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินไว้แก่จำเลย โดยโจทก์มิได้กรอกข้อความใด ๆ ลงในหนังสือมอบอำนาจนั้น ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยใช้จดทะเบียนจำนองเป็นการชำระหนี้ต่อจำเลยสำหรับหนี้ซึ่งจำเลยอาจต้องรับผิดชอบแทนโจทก์ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2501 จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์และนางประหยัดภริยาโจทก์ว่า จำเลยยอมรับภาระชำระหนี้แก่จักรพงษ์มูลนิธิตามสัญญาข้างต้นแทนโจทก์ โดยนางประหยัด ชาตบุตร ยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 7955 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ให้แก่จำเลยเป็นการหักล้างหนี้สินจำนวนดังกล่าว รวมทั้งหักล้างหนี้สินรายอื่นซึ่งโจทก์และนางประหยัด ชาตบุตรเป็นหนี้จำเลยอยู่ในขณะนั้นนางประหยัด ชาตบุตร ได้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นไปตามสัญญาแล้ว จึงไม่มีหนี้ใด ๆ ที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยเหลืออยู่อีกโจทก์ได้ติดต่อขอรับโฉนดที่ดินเลขที่ 4635 คืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ อ้างว่าโจทก์มอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ไว้เพื่อจำนองเป็นประกันหนี้เงินเบิกเกินบัญชี ซึ่งโจทก์และ/หรือบริษัทอุดม จำกัด เป็นลูกหนี้จำเลยอยู่ ซึ่งจำเลยได้นำไปจัดการจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินเบิกเกินบัญชีไว้ต่อโจทก์เป็นจำนวน 1,200,000 บาท โดยที่โจทก์มิได้มอบหมายโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อเป็นประกันเบิกเงินเกินบัญชี หากแต่จำเลยได้นำไปจัดการจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโดยพลการ ด้วยเจตนาอันไม่สุจริต นิติกรรมการจำนองนั้นจึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้โจทก์และบริษัทอุดม จำกัด มิได้เป็นลูกหนี้จำเลยในประเภทหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่เลย จำเลยได้เอาหนี้ประเภทอื่นมากรอกลงในบัญชีของบริษัทอุดม จำกัด ว่าเป็นลูกหนี้จำเลยอยู่ในประเภทเบิกเงินเกินบัญชี ยอดหนี้ที่จำเลยแสดงว่าค้างชำระในฐานเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี จึงไม่ใช่เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามกฎหมาย โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถจะโอนที่ดินดังกล่าวแก่บุคคลอื่นได้การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยยอมไถ่ถอนจำนองและคืนโฉนดเลขที่ 4635 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนครแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมไถ่ถอนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 487,500 บาท กับค่าเสียหายเป็นรายเดือน ๆ ละ15,000 บาท ถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าฟ้องของโจทก์ เคลือบคลุมและไม่เป็นความจริง ความจริงโจทก์ได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 4635 ตำบลคลองตันอำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พร้อมด้วยหนังสือมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมจำนองเป็นประกันเบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์และ/หรือบริษัทอุดม จำกัด เป็นเงิน 1,200,000 บาท ไว้กับจำเลย เพื่อให้จำเลยไปทำนิติกรรมจำนองแทนโจทก์ จำเลยได้นำโฉนดและใบมอบอำนาจดังกล่าวไปทำนิติกรรมจำนองตามเจตนาของโจทก์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2500 ทั้งได้แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนแล้ว หนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทอุดม จำกัด กับหนี้รายจักรพงษ์มูลนิธินั้นได้ทำสัญญาหักล้างหนี้สินกันแล้วโดยนางประหยัด ชาตบุตร ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7955 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ให้จำเลยเป็นการหักล้างหนี้สินเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่หนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทอุดม จำกัด คงค้างกันอยู่ จำเลยมิได้จัดการจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโดยพลการ นิติกรรมจำนองไม่ตกเป็นโมฆะนอกจากนี้ยังปรากฏว่าบริษัทอุดม จำกัด เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีในวันฟ้องเป็นเงิน 1,079,855 บาท 46 สตางค์ หนี้ของบริษัทอุดม จำกัด เป็นหนี้ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี และได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อไถ่ถอนจำนองและคืนโฉนดโดยไม่ชำระหนี้ที่โจทก์จำนองประกันไว้ได้ บริษัทอุดม จำกัด ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยรวม 2 ฉบับ คือ (1) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2496 เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (2) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2496 เป็นจำนวน 380,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ทั้งสองคราวนี้โจทก์ได้เอาที่ดินส่วนตัวของโจทก์โฉนดเลขที่ 4635 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างจำนองไว้กับจำเลย ค้ำประกันหนี้ที่บริษัทอุดม จำกัด เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวแล้วเป็นเงิน1,200,000 บาท บริษัทอุดม จำกัด ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796กับจำเลยเรื่อยมาจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2501 ซึ่งเมื่อหักทอนบัญชีกันแล้ว บริษัทอุดม จำกัด ยังคงเป็นหนี้จำเลยอยู่อีก 681,053 บาท 49 สตางค์ และยังคงต้องเสียดอกเบี้ยเป็นรายเดือนโดยคิดทบต้นตลอดมาถึงวันให้การและฟ้องแย้ง รวมเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสิ้นจำนวน 1,079,855 บาท 46 สตางค์ โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดใช้เงินให้จำเลยตามจำนวนที่บริษัทอุดม จำกัด เป็นหนี้ดังกล่าวจำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่โจทก์ ดังสำเนาท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข 9 โจทก์ก็มิได้ชำระเงินเป็นการไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลย กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้ ความเสียหายที่โจทก์ระบุมาเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของโจทก์เอง จำเลยไม่ต้องรับผิดหากเป็นการละเมิด คดีโจทก์ก็ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และขอให้บังคับโจทก์ใช้เงินจำนวน 1,079,855 บาท 46 สตางค์และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี โดยคิดอย่างดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนจนกว่าโจทก์จะชำระเงินเสร็จแก่จำเลย ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว ให้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดที่ 4635ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ของโจทก์ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้จำเลยจนครบ

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่กล่าวถึงการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทอุดม จำกัด 2 ฉบับเคลือบคลุม สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี 2 ฉบับบริษัทอุดม จำกัด มิได้ทำให้แก่จำเลย หรือถ้าได้ทำสัญญาอย่างใดให้แก่จำเลย ก็เป็นการขยายวงเงินเบิกเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดเดิม และถ้ามีหนี้ในบัญชีเดินสะพัดของบริษัทอุดม จำกัด โดยการเบิกเงินเกินบัญชี หนี้นั้นก็ได้มีการชำระหมดสิ้นกันไปแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้เงิน1,079,855 บาท 46 สตางค์ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีโดยคิดอย่างดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและตามประเพณีการค้าของจำเลยต่อจากวันฟ้องแย้งไปจนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จแก่จำเลย ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติการดังกล่าวข้างต้น ก็ให้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 4635 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนงจังหวัดพระนคร ของโจทก์ ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองขายทอดตลาดใช้หนี้จำเลยจนครบ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทอุดม จำกัด อยู่ร้อยละ 35 และเป็นประธานกรรมการและกรรมการจัดการบริษัทด้วยบริษัทอุดม จำกัด ค้าขายเครื่องกระดาษและเครื่องอุปกรณ์การพิมพ์แต่บริษัทนี้ได้ล้มละลายไปตั้งแต่ปี 2501 โจทก์เป็นลูกค้าเปิดบัญชีกับธนาคารจำเลยมาตั้งแต่ปี 2494 ระหว่างนั้นการค้าของบริษัทอุดม จำกัด เจริญรุ่งเรืองมาก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2495 นางประหยัดภรรยาโจทก์ได้กู้เงินจากจำเลยเป็นเงิน 160,000 บาท โดยโจทก์ค้ำประกัน ครั้นปี 2496 โจทก์ได้กู้เงินจากจุลจักรพงษ์มูลนิธิเป็นเงิน 300,000 บาท มีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน และต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2500 โจทก์ได้กู้เงินจากจำเลยอีก 250,000 บาท ครั้นวันที่ 26 ธันวาคม 2500 นางประหยัดจึงได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 7955 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนางประหยัดไปจำนองไว้กับจำเลยเป็นเงิน 420,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้รายของโจทก์และนางประหยัดดังกล่าวแล้ว ต่อมาโจทก์และนางประหยัดได้ตกลงยอมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7955 ของนางประหยัดที่จำนองไว้กับจำเลยให้แก่จำเลยเพื่อตีใช้หนี้ของนางประหยัดและโจทก์ที่กู้เงินจากจำเลยรวมทั้งหนี้ของโจทก์ที่กู้จากจุลจักรพงษ์มูลนิธิ โดยจำเลยยอมรับใช้หนี้ของโจทก์ให้แก่จุลจักรพงษ์มูลนิธิเองจำเลยได้คืนสัญญากู้ให้โจทก์และนางประหยัดแล้ว ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2501 โจทก์มีหนังสือไปถึงจำเลยขอคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 4635 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ของโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้มอบโฉนดดังกล่าวแก่จำเลยเพื่อประกันหนี้รายที่โจทก์กู้จากจุลจักรพงษ์มูลนิธิ พร้อมกับใบมอบฉันทะที่โจทก์ได้ลงชื่อให้ไว้โดยมิได้กรอกข้อความ แต่จำเลยโต้เถียงว่าโจทก์ได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 4635 แก่จำเลยไว้เป็นประกันในกรณีที่บริษัทอุดม จำกัดทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลย และจำเลยได้นำโฉนดพร้อมกับใบมอบอำนาจดังกล่าวไปทำนิติกรรมจำนองแล้วเมื่อปี 2500 ประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีในราคา 1,200,000 บาท ปรากฏตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.3 สำหรับการเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารจำเลยนั้นปรากฏว่าบริษัทอุดม จำกัด ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796 ตามเอกสารหมาย จ.17 และ ล.5 มียอดเงินเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2501 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทอุดม จำกัด หยุดถอนและฝากเงินจากธนาคารจำเลยว่าบริษัทอุดม จำกัด เป็นลูกหนี้จำเลยอยู่ 681,053 บาท 49 สตางค์ ต่อจากนั้นเป็นดอกเบี้ยประจำเดือนคิดทบต้นตลอดมา

ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัทอุดม จำกัด มิได้เป็นลูกหนี้จำเลยในประเภทหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หากแต่จำเลยได้นำหนี้ประเภทอื่นมาลงในบัญชีเดินสะพัดของบริษัทอุดม จำกัด ในประเภทเบิกเงินเกินบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยไม่ชอบนั้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาโต้เถียงแต่เพียงว่า จำเลยนำเอาหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่หนี้เบิกเงินเกินบัญชีมาลงในบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796 โจทก์มิได้โต้เถียงว่าจำเลยทำบัญชีโดยคิดเงินผิดหรือหนี้อย่างอื่นดังกล่าวมิใช่หนี้ที่บริษัทอุดม จำกัด เป็นลูกหนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนี้ที่โจทก์สั่งจ่ายเป็นเช็คเสมอไป หากเป็นหนี้ส่วนที่ตกลงให้มีบัญชีกันแล้วจะเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาหรือมูลอื่นย่อมลงบัญชีกันได้ ที่จำเลยนำสืบว่าบริษัทอุดม จำกัด เคยยินยอมให้จำเลยเอาหนี้รับจำนำใบประทวนสินค้าที่บริษัทอุดม จำกัด เป็นลูกหนี้บริษัทคลังสินค้าไพศาล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับธนาคารของจำเลย รวมทั้งหนี้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในการจำนำใบประทวนสินค้ามาลงในบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796 ที่บริษัทอุดม จำกัด เบิกเงินเกินบัญชีนั้น มีน้ำหนักน่าเชื่อ เพราะปรากฏว่าการลงบัญชีเดินสะพัดนั้นมีการแจ้งยอดหนี้พร้อมทั้งรายการให้โจทก์ตลอดมาทุกระยะ โจทก์ก็ไม่คัดค้าน แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยลงบัญชีเดินสะพัดตามเอกสารหมาย ล.5 ตอนที่ 2 บรรทัดที่ 13, 14 และ 16 คลาดเคลื่อนไป โจทก์คัดค้านขอให้แก้จำเลยก็ยอมแก้ให้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ลงบัญชีไปตามความจริง และโจทก์ในฐานะกรรมการจัดการบริษัทอุดม จำกัด ยังได้เซ็นชื่อรับรองยอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2500 ว่าบริษัทอุดม จำกัด เป็นลูกหนี้ธนาคารจำเลยอยู่เป็นเงิน 546,697 บาท 06 สตางค์ตามเอกสารหมาย ล.4 จึงรับฟังได้ว่าหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทอุดม จำกัด ถูกต้องและวิธีการที่จำเลยเอาหนี้ดังกล่าวข้างต้นมาลงในบัญชีนั้น ก็เป็นวิธีการตามลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด หาอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349, 306 ดังที่โจทก์ฎีกามาไม่

ส่วนหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทอุดม จำกัด ที่โจทก์ต้องรับผิดจะมีจำนวนเพียงไรนั้น ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยรวมกันไปกับข้อที่โจทก์ฎีกาว่า การคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ไม่ชอบ เพราะปัญหาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยก็เกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่ว่า โจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีหรือไม่เพียงใดนั้นเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่าบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796 เดินสะพัดเรื่อยมาจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2501 อันเป็นวันเบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้าย บริษัทอุดม จำกัด คงเป็นลูกหนี้จำเลยอยู่เป็นจำนวนเงิน 681,053.49 บาทต่อจากนั้นไม่มีการนำเงินเข้าหรือถอนออก ต่อมาเป็นการคิดดอกเบี้ยทบต้นประจำเดือนเรื่อยมา ครั้นวันที่ 29 ตุลาคม 2501 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์บริษัทอุดม จำกัด เด็ดขาด ปรากฏตามสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของกองบังคับคดีล้มละลาย เอกสารหมาย จ.29 ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2501 ธนาคารแหลมทองจำกัดจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้บริษัทอุดม จำกัด จึงไปยื่นคำขอรับชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796 ดังกล่าวมาแล้วเป็นจำนวนเงิน 681,053.49 บาท และดอกเบี้ยนับจากวันที่ 1 มีนาคม 2501 จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเงิน 44,355.75 บาทต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธิของจำเลยที่คิดดอกเบี้ยจากบริษัทอุดม จำกัด ย่อมสิ้นสุดลงนับแต่วันที่บริษัทอุดม จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 จำเลยคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ในฐานะผู้จำนองเป็นประกันอีกไม่ได้ และคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกไม่ได้ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 เป็นบทบังคับของกฎหมายพิเศษในเรื่องการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย มิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเหมือนคดีแพ่งสามัญ หาใช่เป็นบทบังคับของกฎหมายทั่วไปว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ เมื่อจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาจำนองเป็นประกันการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของลูกหนี้โดยไม่จำกัดความรับผิดเป็นคดีแพ่งธรรมดาให้รับผิดแทนลูกหนี้แล้วโจทก์หาอาจที่จะยกกฎหมายบทมาตรานี้ขึ้นต่อสู้เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยได้ไม่ เทียบเคียงตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 229/2506 ระหว่างนางบุญสม นิมมานเหมินทร์ โจทก์ นายจือหง่าน แซ่เหลี่ยว จำเลย เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ดังกล่าวแล้ว ในปัญหาที่ว่าเมื่อบริษัทอุดม จำกัด ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จำเลยจะคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกได้หรือไม่นั้นปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทอุดม จำกัด ได้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796 ของบริษัทอุดม จำกัด ลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2501 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและคิดหักทอนบัญชีกัน และถือได้ว่าเป็นการเรียกร้องเงินค้างชำระ และลูกหนี้ผิดนัดในตัวแล้วจำเลยจะคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไปมิได้เทียบเคียงตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 658-659/2511 ระหว่างนายเดือน บุนนาค โจทก์ นายถวิล ยมกกุล กับพวกจำเลย บริษัทธนาคารแห่งเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำกัด โจทก์ นายซิวคี้หรือคี้ แซ่โง้ว กับพวก จำเลย โจทก์จึงต้องรับผิดชอบชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญาจำนองเป็นประกันที่ทำไว้เท่านั้นส่วนจำนวนหนี้ที่ถือว่าโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้แทนบริษัทอุดม จำกัด มีเพียงใดนั้นเห็นว่าจะถือตามจำนวนเงินที่จำเลยบอกกล่าวบังคับจำนองมิได้ เพราะจำเลยได้คิดดอกเบี้ยทบต้นเรื่อยมา ซึ่งไม่มีสิทธิจะคิดทบต้นได้ จึงต้องถือจำนวนเงิน 681,053.49 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยที่จำเลยยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งถือว่ามีการเลิกบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้วเป็นหลัก แต่ปรากฏว่าจำนวนเงิน681,053.49 บาทดังกล่าวเป็นยอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2501 ส่วนดอกเบี้ยจำนวน 44,355.75 บาทที่จำเลยยื่นขอรับชำระหนี้เป็นการคิดดอกเบี้ยย้อนหลังทบไปถึงวันที่ 1 มีนาคม 2501 ซึ่งไม่ถูกต้อง ควรคิดย้อนไปถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2501 เท่านั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูตามบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 796 ตามเอกสารหมาย ล.5 แล้ว เห็นว่ายอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2501 ซึ่งเป็นวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ซึ่งรวมทั้งยอดหนี้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2501 และดอกเบี้ยที่สะพัดมา) เป็นเงิน 701,861.39 บาทถือได้ว่าเป็นยอดหนี้ที่โจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามสัญญาจำนองตามฟ้องแย้งและจำเลยชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวได้ร้อยละ 12 ต่อปีไม่ทบต้นนับแต่วันเลิกบัญชีเดินสะพัด คือวันที่ 24 ธันวาคม 2501 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

พิพากษาแก้ ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 701,861 บาท 39 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีไม่ทบต้น ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2501 ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่จำเลยถ้าโจทก์ไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share