คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยตั้งใจจะหนีให้พ้นการจับกุมเป็นการจวนตัวจึงได้แทงไปหมายจะเอาตัวรอดเท่านั้น ทั้งบาดแผลที่ตำรวจถูกแทงที่คอก็มีขนาดเล็ก กว้าง 3/4 เซนติเมตร ยาว 3/4 เซนติเมตร ลึก 1 เซนติเมตรต่อมาประมาณ 1 เดือน ตำรวจก็ตายเพราะแผลที่เย็บไม่ติดกัน ให้อาหารไม่ได้โดยอาหารรั่วออกทางแผล ร่างกายทรุดโทรมลงจนกระทั่งตาย เช่นนี้ถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะฆ่าให้ถึงตาย จำเลยยังไม่มีผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงานตาม มาตรา 289 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำร้ายเจ้าพนักงานจนถึงตาย ตามมาตรา 290 วรรคท้าย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ผิดฐานทำร้ายเจ้าพนักงานจนถึงตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคท้าย จำคุก 18 ปี ลด 1 ใน 3 ตามมาตรา 78 คงจำคุก 12 ปีโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานฆ่าเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 289 ศาลฎีกาเห็นด้วย กับศาลอุทธรณ์ ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ผิดตามมาตรา 289 คงผิดตามมาตรา 290 วรรคท้ายแต่ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์วางโทษเบาและลดโทษให้มากไป ศาลฎีกามีอำนาจแก้เป็นให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ลดโทษให้ 4 ปี คงจำคุก 16 ปีได้ไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกายสาหัสต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและฆ่าเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๒๘๘, ๓๓๙ กับขอให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากคดีอาญาแดง ที่ ๕๒๙/๒๕๐๐
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นคน ๆ เดียวกับจำเลยในคดีแดงที่ ๕๒๙/๒๕๐๐ จริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานสมคบกันชิงทรัพย์ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายบาดเจ็บสาหัส และต่อสู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙, ๑๓๘ โดยเฉพาะจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ ตามมาตรา ๒๘๙ อีกสถานหนึ่ง ลงโทษจำเลยที่ ๑ จำคุก ๙ ปี ลงโทษจำเลยที่ ๒ ให้ประหารชีวิต จำเลยทั้งสองรับข้อเท็จจริงบางประการในชั้นสอบสวนและชั้นศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๘ คงลงโทษจำเลยที่ ๑ จำคุก ๖ ปี นับโทษต่อจากคดีแดงที่ ๕๒๙/๒๕๐๐ จำคุกจำเลยที่ ๒ ตลอดชีวิต กับให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังขาด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เชื่อข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น เว้นแต่ข้อที่ว่าจำเลยที่ ๒ มีเจตนาฆ่า ส.ต.ต. เล็ด ยังฟังไม่ได้ว่า มีเจตนาฆ่า และฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จะลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานนี้ไม่ได้ พิพากษาแก้ศาลชั้นต้น เฉพาะข้อที่ชี้ขาดว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๘๙ เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานทำร้ายเจ้าพนักงานถึงตายตาม มาตรา ๒๙๐ วรรคท้าย วางโทษจำเลยที่ ๒ จำคุก ๑๘ ปี ลดตามมาตรา ๗๘ อีก ๑ ใน ๓ คงจำคุก ๑๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้ยกบทลงโทษตาม มาตรา ๑๓๘ ออกเสีย โทษคงเดิม
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าไม่ได้ทำผิด
ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้จริง แต่ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานฆ่าเจ้าพนักงานโดยเจตนานั้น พิเคราะห์แล้วเชื่อ ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะฆ่าให้ถึงตาย จำเลยตั้งใจจะหนีให้พ้นการจับกุม เป็นการจวนตัวจึงได้แทงไปหมายจะเอาตัวรอดเท่านั้น ทั้งแผลที่ ส.ต.ต. เล็ตถูกแทง (ซึ่งตามฟ้องว่าถูกแทงที่คอ) ก็มีขนาด เล็กกว้าง ๓/๔ เซนติเมตร ยาว ๓/๔ เซนติเมตร ลึก ๑ เซนติเมตร (โจทก์นำสืบว่า ส.ต.ต. เล็คถูกแทงที่คอลึกถึงหลอดอาหาร ต้องเย็บแผลถึง ๒ ครั้งเย็บแล้วแผลที่เย็บไม่ติดกัน ให้อาหารไม่ได้ โดยอาหารรั่วออกจากแผล ร่างกายทรุดโทรมลงไป เหตุเกิดคืนวันที่ ๑ – ๒ เมษายน ๒๕๐๐ ติดต่อกัน ในที่สุด ส.ต.ต. เล็คตายเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๐) จึงยังไม่ควรลงโทษจำเลยที่ ๒ ถึงคั่นฆ่าเจ้าพนักงานโดยเจตนา
ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาวางโทษจำคุกจำเลย ๑๘ ปี ลด ๑ ใน ๓ เหลือ ๑๒ ปี ศาลฎีกาเห็นว่า วางโทษเบาและลดโทษให้มากไป จำเลยแทงผู้เสียหายถูกเอว ต้องรักษาตัวอยู่เดือนเศษ และแทงตำรวจผู้ทำการจับกุม ในที่สุดตำรวจตาย เพราะการกระทำของจำเลย เป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง พยานโจทก์ยืนยันมั่นคงว่า จำเลยเป็นคนร้าย คำรับของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ให้วางโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ กำหนด ๒๐ ปีลดโทษให้ ๔ ปี คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑๖ ปี นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share