คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 จะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกัน แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้น บุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้การที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาดเพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าเมื่อส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีรูปลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลม

และ เครื่องหมายการค้ารูปช้างเอราวัณในวงกลม คือ

และ และเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ คือ

และ ที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับ

สินค้าที่โจทก์ผลิตและจำหน่ายมาโดยตลอดและได้อนุญาตให้บริษัทในเครือซิเมนต์ไทยของโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า หม้อแปลงกระแสไฟฟ้า จำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ให้จึงพิจารณาดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับของโจทก์มีสาระสำคัญอยู่ที่รูปช้าง และสาธารณชนต่างก็เรียนขานว่า “ตราช้าง” เช่นเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงคล้ายกันทั้งรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ง่าย เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและได้รับความเชื่อถือจากประชาชนว่าโจทก์เป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน การที่จำเลยที่ 1 จัดทำเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วนำไปใช้กับสินค้าที่จำเลยผลิตและจำหน่ายสินค้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงทางการค้า ขาดความเชื่อถือในคุณภาพของสินค้า อันเกิดจากการผลิตสินค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นผู้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสิบเอ็ดจึงต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ที่ 659/2543 และคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ที่ 169/2541 และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล หากไม่ปฏิบัติตามโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 และขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สินค้าที่จำเลยที่ 1 ผลิตและจำหน่ายเป็นสินค้าต่างประเภทกับสินค้าของโจทก์ โจทก์มิได้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในสัญลักษณ์รูปช้าง และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีอักษรโรมันคำว่า “TUSCO TRAFO” เป็นลักษณะบ่งเฉพาะให้ทราบว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เรียกชื่อเครื่องหมายการค้าว่า “ทัสโก้ ทราโฟ” การเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับของโจทก์ต่างกันไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด จำเลยที่ 1 มิได้กระทำการใดให้โจทก์เสียหาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปช้างในรูปวงกลม คือ

และ เครื่องหมายการค้ารูปช้างเอราวัณในวงกลม คือ

และ และเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ คือ

และ ที่ได้จดทะเบียนไว้ ตามสำเนาหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนและ

หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 9 รายการสินค้าหม้อแปลง

กระแสไฟฟ้าตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.4 โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาดำเนินการเพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1 ต่อไป คดีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปช้างของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 จะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกัน แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้น บุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้ การที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาดเพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สารธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นได้ว่ามีข้อแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการกล่าวคือ ลักษณะรูปช้างในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปช้างยกขาและงอขาข้างหนึ่งงวงช้างชี้ลงที่พื้นและม้วนปลายงวง กับเป็นรูปช้างเอราวัณซึ่งเป็นช้างสามเศียร ส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นรูปช้างยืนสี่ขายกงวงชูขึ้นและอัตราส่วนของรูปช้างในเครื่องหมายการค้านั้นช้างมีขนาดเล็กกว่าของโจทก์ สำหรับส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้านั้นรูปช้างของโจทก์จัดวางอยู่ในวงกลมซ้อมกัน 2 ชั้น ระหว่างวงกลมที่ซ้อนกันมีตัวอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษกับจัดวางอยู่ในรูปลวดลายหกเหลี่ยมใต้รูปหกเหลี่ยมบางรูปมีอักษรภาษาไทยคำว่า “เครือซิเมนต์ไทย” ส่วนรูปช้างของจำเลยที่ 1 จัดวางอยู่ในรูปลวดลายสี่เหลี่ยมจัตุรัสมุมตั้งซึ่งล้อมรอบด้วยวงกลมพื้นทึบ ใต้วงกลมมีคำเป็นอักษรโรมันคำว่า “TUSCO TRAFO” และทั้งหมดอยู่ใต้กรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ดังนี้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องหมายการค้าโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงมีรูปลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “TUSCO TRAFO” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และมีขนาดใหญ่พอๆ กับรูปช้าง จึงเป็นจุดเด่น นับได้ว่าเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าและอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ตราช้างทัสโก้หรือตราทัสโก้เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยง่ายเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบด้วยมาตรา 13 ที่ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ได้แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาทุกเรื่องที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท นั้น จึงไม่ถูกต้อง แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เมื่อเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทษก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษายืน

Share