คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยตกลงซื้อบุหรี่ซิกาแรตจากผู้ขายที่อยู่ประเทศพม่าไว้ก่อนแล้ว จำเลยใช้ให้ ม. นำบุหรี่ซิกาแรตของกลางเข้ามาในราชอาณาจักร ม. เพียงแต่ไปรับบุหรี่ซิกาแรตของกลางจากผู้ขายที่เกาะสอง ประเทศพม่า จำเลยจึงกระทำการอันเป็นส่วนหนึ่งของความผิด ถือว่าจำเลยร่วมกับ ม. มีบุหรี่ซิกาแรตของกลางอันเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายและร่วมกันนำบุหรี่ซิกาแรตของกลางซึ่งผลิตในต่างประเทศและเป็นของต้องจำกัด ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร เมื่อจำเลยจะนำบุหรี่ซิกาแรตของกลางไปขายให้แก่ลูกค้าที่จังหวัดชุมพร จำเลยจึงร่วมกับ ม. มีบุหรี่ซิกาแรตของกลางไว้เพื่อขาย
ศาลลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาตรา 27 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ปรับ 117,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยต้องรับผิดร่วมกับ ม. จำเลยในคดีอื่นของศาลชั้นต้นและปรากฎว่าในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นลดโทษให้ ม. กึ่งหนึ่ง คงปรับ ม. สำหรับข้อหานี้ 58,500 บาท และ ม. รับโทษกักขังแทนค่าปรับครบถ้วนแล้ว ดังนั้น สำหรับคดีนี้จำเลยจึงคงรับโทษปรับอีก 58,500 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 24, 44, 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2507 (ที่ถูก พ.ศ.2509) มาตรา 24 (ที่ถูกต้องระบุมาตรา 50 ด้วย) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากร ปรับ 117,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้ปรับ 78,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปีได้ในกรณีชำระค่าปรับเมื่อรวมกับค่าปรับที่นายมกราจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6334/2540 ของศาลชั้นต้น ได้ชำระไปแล้วต้องไม่ต้องไม่เกิน 117,000 บาท ที่นายมกราต้องรับผิด ยกฟ้องข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า ในวันเวลาสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนายสมใจกับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิต สำนักงานสรรพสามิต จังหวัดระนอง จับกุมนายมกราจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6334/2540 ของศาลชั้นต้น และยึดได้บุหรี่ซิกาแรต ยี่ห้อมาร์โบโร่ จำนวน 1,500 ซอง หนัก 31,500 กรัม ราคา 22,500 บาท กับเรือหางยาว 1 ลำพร้อมเครื่องยนต์เป็นของกลาง บุหรี่ซิกาแรตจำนวนดังกล่าวเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย ซึ่งผลิตในต่างประเทศและเป็นของต้องจำกัดยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง จำเลยใช้ให้นายมกรานำเข้ามาในพระราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า จำเลยใช้ให้นายมกรานำบุหรี่ซิกาแรตของกลางเข้ามาในพระราชอาณาจักร โจทก์มีนายมกราเป็นพยานเบิกความว่า พยานไปรับบุหรี่ซิกาแรตของกลางจากโกเจี๊ยวเจ้าของร้านขายบุหรี่ที่เกาะสองประเทศสหภาพพม่า โดยบอกโกเจี๊ยวว่าจำเลยให้มารับของ โกเจี๊ยวก็มอบบุหรี่ซิกาแรตของกลางให้แก่พยาน คำเบิกความของนายมกราเชื่อมโยงสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ฟังได้แล้วดังกล่าว ทั้งจำเลยมิได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงนี้ จึงเชื่อได้ว่านายมกราเพียงแต่ไปรับบุหรี่ซิกาแรตของกลางจากผู้ขายที่เกาะสองนำเข้ามาในพระราชอาณาจักรซึ่งบุหรี่ซิกาแรตดังกล่าวจำเลยได้ตกลงซื้อจากผู้ขายไว้ก่อนแล้ว จำเลยจึงกระทำการอันเป็นส่วนหนึ่งของความผิด ถือว่าจำเลยร่วมกับนายมกรามีบุหรี่ซิกาแรตของกลางอันเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย และร่วมกันนำบุหรี่ซิกาแรตของกลางซึ่งผลิตในต่างประเทศและเป็นของต้องจำกัด ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร บุหรี่ซิกาแรตของกลางมีจำนวนมากถึง 1,500 ซอง เกินความจำเป็นที่จะมีไว้เพื่อใช้เอง ทั้งนายมกราให้การชั้นจับกุมตามบันทึกการสอบสวนเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.8 ว่าจำเลยจะนำบุหรี่ซิกาแรตของกลางไปขายให้แก่ลูกค้าที่จังหวัดชุมพร จึงเชื่อว่าจำเลยร่วมกับนายมกรามีบุหรี่ซิกาแรตของกลางไว้เพื่อขาย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 24, 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดปรับ 117,000 บาท เนื่องจากจำเลยต้องรับผิดร่วมกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6334/2540 ของศาลชั้นต้น และปรากฏว่าในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยสำหรับข้อหานี้ 58,500 บาท และจำเลยในคดีดังกล่าวรับโทษกักขังแทนค่าปรับครบถ้วนแล้ว ดังนั้น สำหรับคดีนี้จำเลยจึงคงรับโทษปรับอีก 58,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share