คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7586/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 56 วรรคแรก บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดให้เหมาะสมแก่สภาพของผู้กระทำความผิดในแง่อัตวิสัย หาใช่บทบังคับให้ศาลต้องรอการลงโทษจำคุกแก่ผู้กระทำความผิดตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เสมอไปไม่
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจวางโทษก่อนลดให้จำคุกจำเลย 6 เดือน จึงเป็นการลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้เป็นไปตามบทกฎหมายได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เป็นบทบังคับเมื่อศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี และจำเลยไม่เคยต้องรับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อปรากฏเหตุอันควรปรานีแล้ว ศาลจะต้องรอการลงโทษจำคุกตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดให้เหมาะสมแก่สภาพของผู้กระทำความผิดในแง่อัตวิสัย หาใช่บทบังคับให้ศาลต้องรอการลงโทษจำคุกแก่ผู้กระทำความผิดตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เสมอไปไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างชาติภายในห้องพักของโรงแรมที่เกิดเหตุ ลักษณะของการกระทำความผิดเป็นปรปักษ์ต่อสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าของทรัพย์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ลำพังแต่จำเลยมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ยังไม่มีเหตุพอเพียงที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจวางโทษก่อนลดให้จำคุกจำเลย 6 เดือน จึงเป็นการลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายืน

Share