คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7700/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 แม้เดิมแจ้งข้อหาจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเหมือนกัน ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ใช้ข้อความทำนองเดียวกันและมิได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของความผิด จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับ ส่วนกำหนดโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 66 วรรหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิม เมื่อเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายไปมีจำนวน 3 เม็ด มีน้ำหนักสุทธิ 0.26 กรัม กรณีโทษจำคุกต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

0 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบของกลาง คือธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 3 ฉบับ ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยานคือร้อยตำรวจเอกสมชัย และสิบตำรวจเอกสมรักษ์เบิกความทำนองเดียวกันว่าเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 ขณะพยานทั้งสองแอบซุ่มอยู่ที่บ้านพักคนงานก่อสร้างภายในหมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส ห่างจากใต้สะพานท้ายหมู่บ้านเพอร์เฟคเพลสประมาณ 20 เมตร จนถึงเวลา 13.30 นาฬิกา เห็นสายลับเดินไปที่ใต้สะพานดังกล่าวพูดคุยกับจำเลยสักพักหนึ่ง แล้วสายลับยื่นธนบัตรให้จำเลย จำเลยมอบสิ่งของให้สายลับ แล้วสายลับเดินไปหาร้อยตำรวจเอกสมชัยและมอบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ให้ บอกว่าซื้อมาจากจำเลย พยานทั้งสองจึงเดินไปจับกุมจำเลยที่ใต้สะพานดังกล่าว ค้นพบธนบัตรฉบับละ 100 บาท 3 ฉบับ อยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านขวาของจำเลย เมื่อตรวจสอบแล้วมีหมายเลขตรงกับธนบัตรที่มอบให้สายลับนำไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย เห็นว่า พยานทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันและเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อว่าคำเบิกความดังกล่าวเป็นความจริง ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยกระทำผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยกระทำผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ที่จำเลยฎีกาว่าร้อยตำรวจเอกสมชัยและสิบตำรวจเอกสมรักษ์เบิกความว่า ขณะวางแผนจับกุมยังไม่ทราบชื่อผู้ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ แต่ในภาพถ่ายธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อเอกสารหมาย จ.2 กลับมีรายละเอียดว่าเป็นสำเนาธนบัตรที่มอบให้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายตอฮาซึ่งเป็นพิรุธก็ดี พยานทั้งสองสืบสวนอยู่ 3 วัน น่าจะมีหมายค้นของศาลเพื่อเข้าค้นบ้านจำเลยเพื่อจับกุมแล้วไม่นำจำเลยไปค้นบ้านพักจำเลยก็ดี เห็นว่า ไม่สามารถหักล้างคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ที่เห็นจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้สายลับใด้
ปัญหาข้อที่สองที่จำเลยฎีกาว่า ในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.12 ในช่องของการแจ้งข้อหานั้นมีพิรุธ โดยมีลายมือเขียนเติมคำว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ต่างจากข้อความว่า จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ยาบ้า) โดยผิดกฎหมายซึ่งเป็นอักษรที่พิมพ์ดีด แสดงว่าได้มีการเติมข้อความขึ้นภายหลังโดยมิได้แจ้งจำเลยทราบ ทำให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป เห็นว่า การแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 นั้น หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกฐานความผิดไม่ แม้เดิมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเหมือนกัน ก็เรียกได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่รับอนุญาตชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันและมิได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของความผิด จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับ ส่วนกำหนดโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้นตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิม สำหรับคดีนี้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายไปมีจำนวน 3 เม็ด มีน้ำหนักสุทธิ 0.26 กรัม กรณีโทษจำคุกต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำคุก 4 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share