คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6376/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 32 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นรวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนี้ไม่ว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องจำเลยรายใด เพราะกรณีพยานหลักฐานไม่อาจรับฟังได้ หรือเพราะกรณียกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยก็ตาม การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นก็ย่อมสิ้นสุดลงคดีนี้ เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 แม้เพราะเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยเลยที่ 1 ก็ตาม กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ย่อมสิ้นสุดลง ศาลไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน ซองบรรจุเมทแอมเฟตามีน และรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวน และมีคำสั่งริบเงินสดจำนวน 563,700 บาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1616 เลขที่ดิน 5 ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ของจำเลยที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดและอายัดไว้ตามพระราชบัญญัติมาตรการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธและยื่นคำร้องว่า เงินและที่ดินที่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งริบนั้น จำเลยที่ 1 ได้มาจากการประกอบอาชีพโดยสุจริต จำเลยที่ 1 ทำธุรกิจหลายอย่าง เช่น รับจ้างทำเบาะ ทำเหล็กดัด รับติดตั้งเครื่องเสียงประดับยนต์ จำหน่ายยางรถยนต์ ตรวจซ่อมรถยนต์ และรับซื้อฝากที่ดิน จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพดังกล่าว 20 ปีเศษแล้ว ที่ดินที่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งริบจำเลยที่ 1 ซื้อไว้ในราคาเพียง 150,000 บาท ส่วนเงินสดที่ขอให้ริบด้วยนั้น จำเลยที่ 1 รวบรวมไว้เพื่อจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนบุตรและจ่ายให้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ซึ่งถึงกำหนด ขอให้สั่งคืนที่ดินและเงินสดดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 20 ปี จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 73 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 21 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 10 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน และรถจักรยานยนต์ของกลาง กับริบเงินจำนวน 563,700 บาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1616 ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ของจำเลยที่ 1 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน คำให้การชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน รวม 2 กระทง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวหรือไม่ และสมควรริบเงินสดจำนวน 563,700 บาท กับที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามคำร้องของโจทก์หรือไม่ สำหรับปัญหาข้อแรกเห็นว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงในขณะที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาเบิกความ แม้โจทก์มีสิบตำรวจโทธีระวุฒิ จันทร์แก้ว มาเบิกความว่า ในขณะเกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าสิ่งของนั้นคืออะไร เมื่อมีการตรวจค้นภายในบ้านจำเลยที่ 1 ก็ไม่พบเมทแอมเฟตามีนแต่อย่างใด ประกอบกับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธเกี่ยวกับข้อหานี้มาโดยตลอด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงที่จะทำให้เชื่อได้โดยสนิทใจว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดในข้อหานี้จริงคดีมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาว่า สมควรริบเงินสดจำนวน 563,700 บาท กับที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามคำร้องของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยใด ให้การยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนี้ไม่ว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด เพราะกรณีพยานหลักฐานไม่อาจรับฟังได้ หรือเพราะกรณียกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยก็ตาม การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นก็ย่อมสิ้นสุดลง เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 แม้เพราะเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ย่อมสิ้นสุดลง ศาลไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย และให้ยกคำร้องที่ขอให้ริบเงินจำนวน 563,700 บาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1616 ตำบลทุ่งข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share