คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7615/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเฉพาะความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีกำหนด 5 ปี เพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ทั้งปัญหานี้จำเลยไม่เคยยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ กรณีเป็นการต้องห้ามมิให้ยกขึ้นฎีกาอีกโสดหนึ่งด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
แม้เมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนจะเป็นยาเสพติดอยู่ในประเภท 1 ด้วยกัน แต่ก็เป็นคนละชนิดกัน และเป็นความผิดตามกฎหมายคนละมาตรากัน จำเลยมีเจตนาในการครอบครองยาเสพติดให้โทษไว้ในลักษณะต่างกัน และจำเลยเองได้ให้การรับสารภาพผิดตามฟ้องหรือตามสภาพของยาเสพติดแต่ละชนิดที่ประสงค์ในการมีอยู่ไม่เหมือนกัน จึงเป็นความผิดคนละกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๙๗, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑, ๙๒ ริบเฮโรอีนของกลาง คืนธนบัตรจำนวน ๑๐๐ บาท ของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ต้องโทษและพ้นโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๒๑๐/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น จริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๖๗ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุก ๕ ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต จำคุก ๒ ปี รวมจำคุก ๑๒ ปี เพิ่มโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก ๑๘ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๙ ปี ริบเฮโรอีนของกลาง คืนธนบัตรจำนวน ๑๐๐ บาท ของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๙ เม็ด น้ำหนัก ๐.๘๐ กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีเฮโรอีนจำนวน ๓ ห่อ น้ำหนัก ๐.๒๑ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และได้จำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าว ๑ ห่อ น้ำหนัก ๐.๐๘ กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา ๑๐๐ บาท โดยทั้งเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนต่างเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยสิ่งของดังกล่าวเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเฮโรอีนที่มีอยู่บางส่วนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยมีเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ซึ่งข้อนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเฉพาะความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีกำหนด ๕ ปี เพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๓ ปี ๙ เดือน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีของจำเลยในความผิดกระทงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง เนื่องจากโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขมีระยะเวลาไม่เกินห้าปี และฎีกาจำเลยที่อ้างว่าเพียงมีเฮโรอีนตามจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยมิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย ก็เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง จึงต้องด้วยข้อห้ามดังกล่าว อีกทั้งปัญหานี้จำเลยไม่เคยยกขึ้นว่ากล่าวกันมาก่อนโดยชอบในชั้นศาลอุทธรณ์ กรณีนับเป็นการต้องห้ามมิให้ยกขึ้นฎีกาอีกโสดหนึ่งด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกับมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถือเป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า ยาเสพติดดังกล่าวแม้จะอยู่ในประเภท ๑ ด้วยกัน แต่ก็เป็นคนละชนิดกัน และเป็นความผิดตามกฎหมายคนละมาตรากันด้วย กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาในการครอบครองยาเสพติดที่เป็นคนละชนิดกันนั้นไว้ในลักษณะต่างกัน และจำเลยเองได้ให้การรับสารภาพผิดตามฟ้องหรือตามสภาพของยาเสพติดแต่ละชนิดที่ประสงค์ในการมีอยู่ไม่เหมือนกันจึงต้องมีความผิดคนละกรรม คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ปรับบทลงโทษจำเลยมาสองกรรมนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share