คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็นสิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีคือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นที่จะร้องขอให้บังคับคดี จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเพราะสามารถเข้าสวมสิทธิแทนจำเลยในการบังคับคดีเอาจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีอื่นไม่ได้
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยก่อนวันที่ พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับและคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่เป็นกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น ไม่อาจนำ หลักเกณฑ์จำนวนหนี้ขั้นต่ำที่อาจฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาเปรียบเทียบในคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หักเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดค่าทนายความให้ตามจำนวนที่เห็นสมควร
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยอาจชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ได้ทั้งหมด เพราะจำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๖๕/๒๕๔๐ ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวต้องชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลย ๔๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์สามารถสวมสิทธิเข้าเรียกร้องให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ลูกหนี้ตาม คำพิพากษาคดีดังกล่าวสามารถชำระหนี้แก่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาประนีประนอมยอมความหรือมีทรัพย์สินที่จำเลยอาจร้องขอให้บังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ นอกจากนั้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗๑ เป็นสิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เท่านั้น ที่จะร้องขอให้บังคับคดี โจทก์มิใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี จึงไม่มีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าว และโจทก์ไม่อาจเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายให้แก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีดังกล่าวมาแล้ว
กรณีจำเลยอ้างว่าหนี้ค่าภาษีการค้ากับค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยค้างชำระโจทก์มีจำนวนเพียง ๒๘๗,๕๗๗.๑๖ บาท ต่ำกว่าเกณฑ์การฟ้องให้ล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ ที่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายนั้น เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยก่อนวันที่ พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับและคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ที่เป็นกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์จำนวนหนี้ขั้นต่ำที่อาจฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฉบับดังกล่าวมาเปรียบเทียบและถือเป็นเหตุอันไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายได้ในคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ .

Share