คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7607/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีหลักการว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ กฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติดไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนอย่างผู้กระทำความผิดอื่น ๆ และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพ และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว มาตรา 33 บัญญัติว่า “…ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป…” แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพ ยังไม่เป็นที่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมีมาตรา 19 วางหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ต้องหาที่จะมีสิทธิเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการถูกฟ้องดำเนินคดีว่า “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์ การเสพหรือการติดยาเสพติด…” ซึ่งจะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ว่า หากผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ครบถ้วน พนักงานสอบสวนย่อมอยู่ในบังคับที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตรวจวินิจฉัย ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ครบถ้วน แต่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 แล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อนย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีหลักการว่าผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ กฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติดไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนอย่างผู้กระทำความผิดอื่น ๆ และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพ และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว มาตรา 33 บัญญัติว่า “…ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป…” แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพยังไม่เป็นที่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมีมาตรา 19 วางหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ต้องหาที่จะมีสิทธิเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการถูกฟ้องดำเนินคดีว่า “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์ การเสพหรือการติดยาเสพติด…” ซึ่งจะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ว่า หากผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ครบถ้วน พนักงานสอบสวนย่อมอยู่ในบังคับที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตรวจวินิจฉัยว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดหรือไม่ เพื่อจะได้คัดแยกว่า ผู้ต้องหานั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือต้องถูกดำเนินคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เหมือนผู้กระทำความผิดอื่น ๆ ดังนั้น ขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติให้พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องหาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 19 ด้วยการนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนจักต้องปฏิบัติให้ถูกต้องสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย คดีนี้ตามฟ้องโจทก์ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องว่าเป็นผู้เสพเมทแอมเฟตามีน และร่วมกับจำเลยที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1 เม็ด และ 1 ชิ้น หรือ 2 หน่วยการใช้ น้ำหนัก 0.126 กรัม อันเป็นยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวงให้แก่สายลับ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ครบถ้วน แต่พนักงานสอบสวนหาได้นำตัวจำเลยที่ 1 ไปศาลภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิประโยชน์ในการที่จะได้รับการพิจารณาเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อนและย่อมส่งผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share