คำวินิจฉัยที่ 89/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เทศบาลเมืองนนทบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้แทนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกเอกชนยื่นฟ้องตามสัญญาซื้อขายรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือครุภัณฑ์การช่วยชีวิตฉุกเฉิน ขอให้ชำระเงินค่ารถ และคืนหนังสือค้ำประกัน เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองซื้อรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินจากโจทก์นั้น ก็เพื่อใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล ตามภารกิจด้านการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๙/๒๕๕๗

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ บริษัทโตโยต้านนทบุรี ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทอง ที่ ๑ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๙๒๐/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ผบ. ๕๔๐/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๑ ได้มีประกาศเทศบาลเมืองบางบัวทอง เรื่องประมูลซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง จำนวน ๒ รายการ คือรถยนต์พยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือครุภัณฑ์การช่วยชีวิตฉุกเฉิน จำนวน ๑ คัน และรถยนต์บรรทุก (ดีเซล) ขนาด ๖ ล้อ ๖ ตัน แบบกระบะเหล็กพร้อมหลังคาปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ ซีซี จำนวน ๑ คัน โจทก์เข้าร่วมประมูลตามประกาศดังกล่าวในรายการที่ ๑ โดยปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขการเข้าประมูล จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำสัญญาเนื่องจากโจทก์เป็นผู้เสนอราคาได้ โดยโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือครุภัณฑ์การช่วยชีวิตฉุกเฉิน ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นคอมมิวเตอร์ (หลังคาสูง) สีขาว จำนวน ๑ คัน กับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน ๑,๖๘๕,๐๐๐ บาท โจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์และจดเล่มทะเบียนและขอป้ายทะเบียนตามกฎหมายให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินตามสัญญา โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒,๐๐๑,๔๕๖.๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑,๖๘๕,๐๐๐ บาท และให้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันคืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ส่งมอบรถยนต์มีคุณลักษณะถูกต้องตามรายละเอียดในสัญญาซื้อขาย แต่ที่ยังไม่อนุมัติการเบิกจ่ายเพราะโจทก์ผู้ขายมีหน้าที่ต้องขอยกเว้นภาษีสรรพสามิต ให้แก่จำเลยที่ ๑ และส่งมอบทะเบียนรถยนต์โดยได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ขายที่จะต้องดำเนินการขอยกเว้นภาษีให้จำเลยที่ ๑ เมื่อโจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนรถยนต์ โดยได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้แก่จำเลยที่ ๑ ได้ทันภายในกำหนดกันเงินงบประมาณ การส่งมอบสิ่งของของโจทก์จึงยังไม่ครบถ้วน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาซื้อขายรถยนต์ตามฟ้อง แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างฝ่ายต่างแสดงเจตนาด้วยใจสมัครในฐานะที่เท่าเทียมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองได้ตกลงว่ามอบหมายให้โจทก์ใช้อำนาจทางปกครอง หรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองแทนรัฐแต่อย่างใด ทั้งสัญญาดังกล่าวก็มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกทั้งไม่ปรากฏสัญญาข้อใดมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ว่ามีอยู่เหนือโจทก์ แม้ว่าสัญญาข้อสุดท้ายจะระบุสิทธิการขยายทำการตามสัญญา หรือของดหรือลดค่าปรับได้ นั้น อยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่ ๑ ที่จะพิจารณาได้ก็ตาม แต่ในสัญญาข้อเดียวกัน ก็มีข้อตกลงระบุเป็นข้อยกเว้น เรื่องการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว โดยห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ ยกขึ้นอ้างในเรื่องที่ให้ถือว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องในการที่จะขอขยายเวลาหรือของดหรือลดค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้นต่อโจทก์ กรณีเหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหลักฐานชัดแจ้งหรือจำเลยที่ ๑ ทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้นไว้เช่นกัน ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวเช่นนี้ย่อมบ่งบอกและชี้ชัดแสดงให้เห็นถึงฐานะของคู่สัญญาที่เท่าเทียมกันแล้ว หาใช่เป็นการให้เอกสิทธิ์แก่จำเลยที่ ๑ แต่เพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าได้ให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผลด้วย สัญญาซื้อขายพิพาทจึงมิใช่เป็นสัญญาทางปกครองอันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยเฉพาะให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาล จำเลยทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับ โดยที่สัญญาซื้อขายรถยนต์พยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าว มีสาระสำคัญให้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนจัดหาและส่งมอบรถยนต์พยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือครุภัณฑ์การช่วยชีวิตฉุกเฉิน เพื่อใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลตามภารกิจด้านการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง ซึ่งรถยนต์พยาบาลกู้ชีพดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญของจำเลยทั้งสองในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและคืนหนังสือค้ำประกัน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๑/๒๕๔๖ ที่ ๘/๒๕๔๘ ที่ ๑๕/๒๕๕๐ ที่ ๑๘/๒๕๕๐ ที่ ๓๗/๒๕๕๐ ที่ ๔/๒๕๕๑ ที่ ๙/๒๕๕๑ ที่ ๒๗/๒๕๕๑ ที่ ๒๓/๒๕๕๔ ที่ ๒๘/๒๕๕๔ ที่ ๓๘/๒๕๕๔ ที่ ๗/๒๕๕๕ และที่ ๙/๒๕๕๕ ที่ ๕๙/๒๕๕๖ และที่ ๗๔/๒๕๕๖

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการ จำเลยทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาซื้อขายรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน ขอให้ชำระเงินค่ารถ และคืนหนังสือค้ำประกัน จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาซื้อขายรถดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕๓ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้ การที่จำเลยทั้งสองซื้อรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือครุภัณฑ์การช่วยชีวิตฉุกเฉินจากโจทก์นั้น ก็เพื่อใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล ตามภารกิจด้านการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง ดังนั้น สัญญาซื้อขายรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทโตโยต้านนทบุรี ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด โจทก์ สำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทอง ที่ ๑ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share