แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปที่บ้านเกิดเหตุตามคำชักชวนของ ส. โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ชักชวน แต่การที่จำเลยขับรถพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปที่บ้านเกิดเหตุตามคำขอของ ส. ในเวลากลางคืน จากนั้นจำเลยและ ส. ฉวยโอกาสลงมือกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ในเวลาและสถานที่เดียวกัน บ่งชี้ว่าจำเลยและ ส. มีเจตนาล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดแก่ผู้เสียหายแต่ละคนเป็น 4 กรรม แม้จำเลยจะกระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งสี่ในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร 2 กรรม กับฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทอีก 2 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยครบทุกกรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 279, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า (ที่ถูก พิพากษากลับว่า) จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กนั้นจะยินยอม และฐานร่วมกันกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สาเหตุที่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 ไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทสาทรเพื่อขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและนายสืบพงศ์ก็เพราะได้ทราบข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ถูกจำเลยและนายสืบพงศ์กระทำอนาจาร ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่าอับอายแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 เอง ประกอบกับคดีไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยและนายสืบพงศ์ ดังนั้น หากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 มิได้ถูกกระทำอนาจารจริงก็คงไม่คบคิดกันปรุงแต่งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยและนายสืบพงศ์ อีกทั้งเมื่อพันตำรวจโทสาทรถามคำให้การผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ต่างก็ให้การถึงพฤติกรรมในการกระทำความผิดของจำเลยและนายสืบพงศ์ได้สอดคล้องกันโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ และชั้นพิจารณาผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังคงเบิกความสอดคล้องกับที่เคยให้การแก่พันตำรวจโทสาทร ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายที่ 3 เบิกความแตกต่างจากผู้เสียหายที่ 1ในข้อสาระสำคัญ เพราะมิได้ยืนยันว่าเห็นจำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 จึงมีข้อพิรุธนั้น เห็นว่า แม้ผู้เสียหายที่ 3 มิได้เบิกความว่าเห็นจำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 ดั่งที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ให้อ่านบันทึกคำให้การของผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายที่ 3 ก็อธิบายว่า เหตุที่มิได้เบิกความว่าเห็นจำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 ดั่งที่เคยให้การไว้ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายก็เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้วจึงจดจำเรื่องราวไม่ค่อยได้ ซึ่งนับว่าสมเหตุผล เพราะผู้เสียหายที่ 3 เบิกความเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 หลังวันเกิดเหตุนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ ย่อมจดจำเหตุการณ์บางช่วงบางตอนที่มิได้เกิดขึ้นแก่ตนเองโดยตรงผิดพลาดสับสนไปบ้าง ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 จะเบิกความแตกต่างจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ข้อแตกต่างนั้นก็มิใช่ข้อพิรุธสำคัญอันจะทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ขาดน้ำหนักในการรับฟัง ที่จำเลยฎีกาว่า ห้องนอนที่เกิดเหตุไม่มีหน้าต่าง เห็นได้จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่ตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า ในภาพถ่ายภาพที่ 2 ซึ่งเป็นภาพถ่ายห้องนอนที่เกิดเหตุไม่เห็นกระจกหน้าต่าง แต่กระจกหน้าต่างอยู่ทางด้านซ้ายของห้อง นอกจากนี้ พยานโจทก์ปากนายทินกรเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ และพันตำรวจโทสาทรพนักงานสอบสวนผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ต่างก็มิได้เบิกความว่า ห้องนอนที่เกิดเหตุมีหน้าต่างกระจกแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่าในห้องที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าด้านนอกส่องผ่านกระจกหน้าต่างเข้าไปทำให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 มองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งตัวคนร้ายได้นั้น เห็นว่าภาพถ่ายหมาย จ.10 ภาพที่ 2 เป็นภาพถ่ายเฉพาะด้านที่มีประตูเพียงด้านเดียว สภาพที่ปรากฏตามภาพถ่ายภาพนี้ย่อมไม่พอจะยืนยันได้ว่าห้องนอนที่เกิดเหตุไม่มีหน้าต่าง อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังเบิกความอธิบายว่า กระจกหน้าต่างอยู่ทางด้านซ้ายของห้อง ซึ่งมีความหมายว่าหน้าต่างห้องนอนที่เกิดเหตุมิได้อยู่ด้านเดียวกับด้านที่มีประตู ส่วนเรื่องที่นายทินกรและพันตำรวจโทสาทรมิได้เบิกความว่าห้องนอนที่เกิดเหตุมีหน้าต่างกระจกนั้นน่าจะเป็นเพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดถามถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เช่นนี้คำเบิกความของพยานทั้งสองจึงมิได้มีลักษณะเป็นการยืนยันว่าห้องนอนที่เกิดเหตุไม่มีหน้าต่างกระจก เมื่อผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 เบิกความว่าห้องที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าด้านนอกส่องผ่านกระจกหน้าต่างเข้าไปทำให้มองเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้นั้นมีความสอดคล้องกันโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธจึงมีน้ำหนักฟังได้ว่าในห้องที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าด้านนอกส่องผ่านกระจกหน้าต่างเข้าไปทำให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 มองเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งมองเห็นจำเลยและนายสืบพงศ์ได้จริง ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปที่บ้านที่เกิดเหตุเพื่อฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามคำชักชวนของนายสืบพงศ์ อีกทั้งการที่นายสืบพงศ์ขอให้จำเลยขับรถยนต์กระบะพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปยังบ้านที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านที่จำเลยประสงค์จะไปพักค้างคืนอยู่ก่อน โดยมีนางวาสนาไปด้วยก็มิใช่เรื่องผิดปกติ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 นั้น เห็นว่า แม้จำเลยมิได้ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปที่บ้านที่เกิดเหตุก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยขับรถยนต์กระบะพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปยังบ้านที่เกิดเหตุในเวลากลางคืน จากนั้นจำเลยและนายสืบพงศ์ก็ฉวยโอกาสลงมือกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ในเวลาและสถานที่เดียวกันบ่งชี้ว่าจำเลยและนายสืบพงศ์มีเจตนาล่วงล้ำอำนาจการปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละคนเป็น 4 กรรม แม้จำเลยจะกระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งสี่ในครั้งเดียวกันแต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร 2 กรรม กับฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทอีก 2 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยครบทุกกรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร 2 กรรม กับฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทอีก 2 กรรม ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7