คำวินิจฉัยที่ 90/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติถูกอดีตพนักงานยื่นฟ้องตามสัญญาจ้าง ขอให้ร่วมกันชำระเงินเพิ่มจากการเลื่อนเงินเดือน ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ค่าเสียหายจากการขาดรายได้เพราะต้องตกงาน และเงินสบทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งระบุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตกลงจ้างและผู้ฟ้องคดีตกลงรับจ้างทำงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ภายในระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญา โดยกำหนดอัตราเงินเดือนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องจ่ายให้ผู้ฟ้องคดีในแต่ละเดือนมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั่วไป แม้ว่ากฎหมายที่จัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะกำหนดว่า กิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนและกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมก็ตาม แต่ก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่าผู้อำนวยการ พนักงานและลูกจ้างของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติอาจกำหนดเรื่องประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายทั้งสามฉบับก็ได้ เพียงแต่ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำกับบุคคลใดอันมีลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานแล้วจะไม่กลายเป็นสัญญาจ้างแรงงาน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๐/๒๕๕๗

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ นางณัฎฎา พัฒนวรพันธุ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวกรวม ๘ คน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๓๘/๒๕๕๔ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้แทนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๘ เป็นคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ กลุ่มงานบริหาร เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๐ และสิ้นสุดการจ้าง ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ ในอัตราค่าจ้างเดือนละ ๖๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาจ้างพนักงาน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๑ ต่อมาคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติมีมติให้ผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้มีการ สรรหารองผู้อำนวยการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใหม่ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีฐานะเป็นพนักงานตามข้อ ๓ ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ แม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะต้องออกจากงานด้วยเหตุครบกำหนดตามสัญญาจ้าง ตามข้อ ๑๙ ของระเบียบดังกล่าว แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดไม่ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีเพื่อพิจารณาต่อสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีเช่นเดียวกับพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ระดับปฏิบัติการ อีกจำนวน ๑๕๐ คน ซึ่งทำสัญญาจ้างเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดีเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการตกงาน ขาดรายได้ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดร่วมกันชำระค่าเสียหายกรณีเงินเพิ่มจากการเลื่อนเงินเดือน ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ค่าเสียหายจากการขาดรายได้เพราะต้องตกงาน และเงินสบทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดให้การว่า การบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการนั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๒๓ วรรคสอง และระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยผู้อำนวยการจะต้องเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองก่อน ซึ่งต่างจากพนักงานระดับปฏิบัติการที่ผู้อำนวยการมีอำนาจบรรจุแต่งตั้งได้ การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิด ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย และคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทคดีนี้เป็นคดีแรงงาน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐ จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสำนักงานใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้แทนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๘ เป็นคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยที่มาตรา ๒๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อาจแต่งตั้งรองผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบกับ ข้อ ๑๓ ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาผู้ที่มีคุณวุฒิ ความสามารถ ความจัดเจน การริเริ่ม และความเหมาะสมกับตำแหน่งรองผู้อำนวยการ เสนอชื่อขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านก่อน และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงสั่งบรรจุและแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งได้ กรณีตามคำฟ้องและคำขอเป็นการฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และข้อ ๑๓ ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ ไม่ดำเนินการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๘ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงาน สทบ. เพื่อการต่อสัญญาจ้างดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีเพื่อการต่อสัญญาจ้างเช่นพนักงานระดับปฏิบัติการ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุไม่ต่อสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย แม้ผู้ฟ้องคดีจะมิได้ฟ้องกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเพื่อเรียกค่าเสียหายในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๘ ก็ตาม แต่ศาลปกครองสามารถเรียกให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเข้ามาในคดีในฐานะผู้ร้องสอดได้ เพื่อให้รับผิดในผลละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำคู่ความแล้ว ผู้ฟ้องคดีมีฐานะเป็นพนักงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ตามสัญญาจ้าง ฉบับลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๑ ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ กลุ่มงานบริหาร ทั้งนี้ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ กองทุนหมู่บ้านมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นนิติบุคคล แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แก่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งตามมาตรา ๒๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งผู้ฟ้องคดีมีฐานะเป็นพนักงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยอาศัยสัญญาจ้างพนักงานสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ กลุ่มงานบริหาร แม้ว่าตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๑๓ จะกำหนดว่า กิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนและกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ก็มิได้หมายความว่านิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เป็นนายจ้างลูกจ้างกันแต่อย่างใด แต่การพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีต้องพิเคราะห์ถึงสัญญาจ้างพนักงานสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๑ แล้ว เห็นว่า สัญญาดังกล่าวมีการกำหนดในเรื่องลักษณะงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ ระยะเวลาการจ้างงาน ค่าจ้าง ตลอดจนการกำหนดเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว ประกอบกับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องเงินเพิ่มที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังไม่ได้จ่าย เงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีขาดรายได้และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อันเป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกร้องกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญาจ้าง และใช้สิทธิเรียกร้องตามที่ได้รับการรับรองไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ หามีคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องส่วนใดที่มีลักษณะขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใดไม่ คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิ หรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อันเป็นคดีแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๖) เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว โดยกำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้นเป็นคดีประเภทหนึ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คดีนี้เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานตามสัญญาจ้าง ฉบับลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๑ โดยมีสาระสำคัญของสัญญาข้อ ๑ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตกลงจ้างและผู้ฟ้องคดีตกลงรับจ้างทำงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๐ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ ในอัตราค่าจ้างเดือนละ ๖๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีตกลงจะทำงานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตกลงจะให้สินจ้างแก่ผู้ฟ้องคดีตลอดเวลาที่ทำงานให้ อันเข้าลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั่วไป แม้ว่าพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๑๓ จะกำหนดว่า กิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนและกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมก็ตาม แต่ความตอนท้ายของมาตราเดียวกันนั้น ก็บัญญัติรับรองไว้ว่าผู้อำนวยการ พนักงานและลูกจ้างของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ฉะนั้น ความในมาตรา ๑๓ ดังกล่าวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติอาจกำหนดเรื่องประโยชน์ตอบแทนที่จะตกได้แก่ผู้อำนวยการ พนักงานและลูกจ้างของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ก็ได้ เพียงแต่ประโยชน์ตอบแทนนั้นต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำกับบุคคลใดอันมีลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานแล้วจะไม่กลายเป็นสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องเงินเพิ่มที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังไม่ได้จ่าย เงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีขาดรายได้และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อันเป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกร้องกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญาจ้าง และใช้สิทธิเรียกร้องตามที่ได้รับการรับรองไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางณัฎฎา พัฒนวรพันธุ์ ผู้ฟ้องคดี สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวกรวม ๘ คน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share