คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3156/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ นายจ้าง เลิกจ้างลูกจ้าง เป็นเรื่องที่ นายจ้าง ใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับว่าจะต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นด้วย เมื่อลูกจ้างนำคดีมาฟ้อง นายจ้างก็มีสิทธิที่จะอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในคำให้การ ซึ่งก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่แจ้งสาเหตุ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจ่ายค่าชดเชยไม่ครบ ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม หากโจทก์จำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,517,184 บาท กับค่าชดเชยที่จ่ายขาดเป็นเงิน 6,510 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ขาดความเคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ ประพฤติตนขัดแย้งต่อนโยบาย และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นประจำ ทำงานเข้ากับผู้ร่วมงานคนอื่นไม่ได้ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใด เอาเวลาทำงานไปใช้ในเรื่องส่วนตัว จำเลยตักเตือนโจทก์จนถึงขั้นทำทัณฑ์บนไว้ แต่โจทก์มิได้ปรับปรุงความประพฤติและการกระทำของตนให้ดีขึ้น จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายเงินตามสิทธิที่โจทก์พึงได้รับไปแล้วโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งเลิกจ้างโจทก์มิได้ระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถบรรยายข้ออ้างและข้อกล่าวหาของโจทก์ในขณะยื่นคำฟ้องได้ คำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าการที่จำเลยเลิกจ้าง เป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างแรงงาระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดบังคับไว้ว่าจะต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นด้วย และเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยก็มีสิทธิที่จะอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในคำให้การ ซึ่งก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share