แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ที่ว่า การออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคดียังอยู่ในระหว่างที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด อย่างไร อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 352, 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก), 353 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานยักยอกเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ที่ว่า การออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคดียังอยู่ในระหว่างที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด อย่างไร อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์