แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่คณะกรรมการพิจารณากักคุมตัวจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติเข้าดำเนินการยึดหรือจำหน่ายทรัพย์สินในห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทฮัมบูร์กไทยนั้น จึงเป็นการเข้าควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติแล้ว
ความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติเป็นเรื่องควบคุมจัดกิจการและทรัพย์สินตามอำนาจในพระราชบัญญัติซึ่งจะต้องกระทำเป็นการเริ่มต้น ด้วยการเข้าดำเนินกิจการ และเข้าครอบครองทรัพย์สินแทนศัตรูต่อสหประชาชาติคณะกรรมการจะต้องจัดการและรับผิด เสมือนเป็นกิจการของตนเอง
ย่อยาว
ความว่าเดิมห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทฮัมบูร์กไทย ซึ่งดำเนินกิจการเพื่อชนชาติเยอรมัน ได้เช่าตึกของ ม.จ.ทิพยรัตน ประภา ต่อมาบริษัทโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกรายนี้จาก ม.จ.ทิพยรัตนฯ ในปีเดียวกันนั้น จำเลยได้เข้ายึดทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ ได้เข้าควบคุมจัดกิจการและทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทฮัมบูร์กไทย และเข้าครอบครองตึกรายนี้จำเลยได้ส่งมอบตึกรายนี้คืนให้โจทก์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2489 จำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าที่ค้าง และปรากฎว่าทรัพย์สินที่ตรึงติดกับตัวตึก ได้สูญหายไปหลายอย่าง โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเช่า กับทรัพย์ที่สูญหายไป จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเช่าตึกเดือนละ 555 บาท จนถึงวันที่ส่งมอบส่วนราคาทรัพย์สินที่สูญหาย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำให้สูญหายจึงให้ยกคำขอในเรื่องนี้เสีย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกักคุมตัวและควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ 2488 มาตรา 3 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศระบุรายชื่อหรือประเภทของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติกักคุมตัว และควบคุมจัดกิจการ หรือทรัพย์สินได้ และในวรรค 2 ของมาตรานั้น ยังได้บัญญัติว่า บุคคลผู้เป็นศัตรูต่อสหประชาชาตินั้น ให้หมายความถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือองค์การรูปอื่นใด แม้มิได้เป็นนิติบุคคลที่กระทำการเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ หรือบุคคลเหล่านี้มีประโยชน์อยู่ด้วยฉะนั้นการที่จำเลยเข้าดำเนินการยึดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทฮัมบูร์กไทย จึงต้องเป็นการเข้าควบคุมจัดการหรือทรัพย์สินของบุคคลผู้เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติแล้ว ส่วนข้อที่ว่า จำเลยเถียงว่า ตามพระราชกฤษฎีกาควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาตินั้น อาจทำได้ถึง 4 ประการ แต่สำหรับกรณีนี้จำเลยเลือกทำแต่ประการที่ 2 คือตามมาตรา 3(2) เท่านั้นจำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้รับโอนกิจการ หรือทรัพย์สินมาจัดการเสมือนเป็นของจำเลยเองตามมาตรา 3(1) นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ความตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกานั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการนี้ ซึ่งในตัวพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทำแก่บุคคลผู้เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติไว้เป็น 2 ประการ คือ กักคุมตัวอย่างหนึ่ง และควบคุมจัดกิจการ หรือทรัพย์สินอีกอย่างหนึ่งและในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัตินั้น จึงให้อำนาจในการควบคุมจัดกิจการตามวิธีการและหลักเกณฑ์ ซึ่งกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ฉะนั้นความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกานั้น จึงเป็นเรื่องควบคุมจัดกิจการและทรัพย์สินตามอำนาจในพระราชบัญญัตินั้นเอง ฉะนั้นอำนาจของคณะกรรมการในเรื่องนี้จะต้องกระทำเป็นการเริ่มต้นด้วยการเข้าดำเนินกิจการ และเข้าครอบครองทรัพย์สินแทนศัตรูต่อสหประชาชาติตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชกฤษฎีกานั้นเสมอไป ส่วนการกระทำตามอนุมาตรา 2, 3, 4 นั้น เป็นรายละเอียดในการเข้าควบคุมจัดกิจการต่อไปอีกทีหนึ่ง เมื่อเป็นดังนี้การที่จำเลยเข้ายึดทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทฮัมบูร์กไทยจึงเป็นการเข้ากระทำการควบคุมจัดกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทฮัมบูร์กไทย แทนศัตรูต่อสหประชาชาติ ซึ่งจำเลยจะต้องจัดการและรับผิดเสมือนเป็นกิจการของจำเลยเอง จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งสัญญาเช่ารายพิพาทนี้
พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์