คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7593/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏแม้จะมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีและเรียกค่าธรรมเนียมบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มจากจำเลยที่ 1 เป็นรายปี ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนจากบัญชีของจำเลยที่ 1 กลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายได้ ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเบิกถอนเงินหรือรับเงินกู้ของจำเลยที่ 1 จากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือของธนาคารอื่นที่มีข้อตกลงกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอนก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีไม่เพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอน เงินที่เบิกถอนเกินจากเงินฝากก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 แต่ในส่วนค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเอทีเอ็มปีละ 100 บาท ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 199,631.77 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 132,070.10 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายไตรรงค์ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสายหยุด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้กับโจทก์ สาขาชุมพร เพื่อให้ธนาคารออมสิน สาขาชุมพร ที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่ในสังกัดโอนเงินเดือนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 ขอใช้บริการสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏและทำสัญญาไว้กับโจทก์ สาขาชุมพร เพื่อเบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีออมทรัพย์เป็นเงิน 137,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ นางสายหยุด ได้ทำสัญญาค้ำประกันกรุงไทยธนวัฏไว้กับโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากนั้นธนาคารออมสิน สาขาชุมพร ได้โอนเงินเดือนและผลประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 เข้าบัญชีออมทรัพย์ดังกล่าว จากนั้นจำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีด้วยการใช้ใบถอนเงินและใช้บัตรกรุงไทยเอทีเอ็มถอนเงินจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ รวมทั้งเบิกเงินในวงเงินกรุงไทยธนวัฏดังกล่าว ต่อมาต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 ไม่มีการโอนเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใดเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 23 มีนาคม 2544 เป็นเงิน 2,000 บาท มียอดค้างชำระโจทก์เป็นต้นเงิน 132,070.10 บาท และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 นางสายหยุดถึงแก่ความตายโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางสายหยุดให้รับผิดด้วย ศาลชั้นต้นมีหมายเรียกจำเลยร่วมซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้จัดการมรดกของนางสายหยุดเข้าเป็นจำเลยร่วม คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) หรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยเป็นยุติว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมในฐานะทายาทของนางสายหยุดยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเป็นสัญญากู้ยืมเงินทั่วไปซึ่งมีอายุความ 10 ปี โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเงินที่ออกทดรองจ่ายซึ่งมีอายุความ 2 ปี นั้น เห็นว่า สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ แม้จะมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีและเรียกค่าธรรมเนียมบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มจากจำเลยที่ 1 เป็นรายปี ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนจากบัญชีของจำเลยที่ 1 กลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายได้ ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้นก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเบิกถอนเงินหรือรับเงินกู้ของจำเลยที่ 1 จากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือของธนาคารอื่นที่มีข้อตกลงกับโจทก์ หากจำเลยที่1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอน ก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีไม่เพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอน เงินที่เบิกถอนเกินจากเงินฝากก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับแต่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2544 ถึงวันฟ้องวันที่ 24 กันยายน 2547 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ แต่ในส่วนค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเอทีเอ็มปีละ 100 บาท นับจากปี 2544 ถึง 2546 นั้น ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่างๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าธรรมเนียมในวันใดจึงถือเอาวันแรกของปีเป็นวันถึงกำหนดชำระ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวของปี 2544 และ 2545 จึงขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
เมื่อฟังได้ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความดังกล่าว และข้อเท็จจริงที่ศาลล่างฟังมาพอแก่การวินิจฉัยคดี เพื่อความรวดเร็วศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาต่อไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยอีก มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายวิเชียร ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงินโจทก์จำนวน 132,070.10 บาท หนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 67,261.67 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย จำนวน 199,331.77 บาท รวมทั้งหนี้ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรกรุงไทยเอทีเอ็ม จำนวน 100 บาท ของปี 2546 รวมหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ทั้งสิ้น จำนวน 199,431.77 บาท ตามบัญชีและรายการคิดดอกเบี้ย ส่วนจำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนดังกล่าวจริง นางสายหยุด ผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อนางสายหยุดถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมในฐานะทายาทโดยธรรมและผู้จัดการมรดกของนางสายหยุด จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของนางสายหยุดแต่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วม ร่วมกันชำระเงิน จำนวน 199,431.77 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 132,070.10 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share