คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
สำหรับการกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 3 ขับมาจนทำให้ผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ แล้วจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ซอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทาง เป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
เมื่อปรากฏหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยกราบขอขมาผู้เสียหายทั้งสามต่อหน้าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและปลัดหมู่บ้าน โดยผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้อภัยจำเลยและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 3 ได้ยินยอมแทนผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์แล้ว อันเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) เป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 92, 279, 283 ทวิ, 284, 317 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 284 วรรคแรก (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 9 เดือน เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) จำคุก 5 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน รวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำคุก 3 ปี 10 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยอ้างตามฎีกาว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาพรากหรือกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 หรือมีการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 3 หรือพาผู้เสียหายที่ 3 ไปที่อื่น และจำเลยไม่ได้ใช้วิธีรุนแรงเพื่อให้สนองต่อความต้องการทางเพศของจำเลยนั้น เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล สำหรับการกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 3 ขี่มาจนผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ จากนั้นจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ซอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทางเป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยกราบขอขมาผู้เสียหายทั้งสามต่อหน้าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และปลัดหมู่บ้าน โดยผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้อภัยจำเลยและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยตามเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เห็นว่า สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำแล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้นั้น เมื่อปรากฏหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 3 ได้ยอมความแทนผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์แล้ว อันเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) เป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 ในส่วนนี้คงเหลือเพียงความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ซึ่งต้องลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้อันเป็นบทหนักที่สุด จึงเห็นสมควรกำหนดโทษในความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารคงลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี 8 เดือน จำหน่ายคดีสำหรับความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) เสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share