แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีฟ้องเรียกให้ชำระค่าก่อสร้าง บรรยายฟ้องเกี่ยวกับงานก่อสร้างเพิ่มเติมแต่เพียงว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 14,600 บาท โดยมิได้บรรยายรายละเอียดว่าจำเลยตกลงจ้างโจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมเมื่อไร เป็นงานอะไรบ้าง คิดค่าจ้างเพิ่มเป็นเงินเท่าใดและจำเลยชำระแล้วเท่าใด เป็นฟ้องที่มิได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นนั้น ฟ้องในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 ว่าจ้างเหมาโจทก์ก่อสร้างตึกแถวพิพาทตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์แต่ตามสัญญาจ้างเหมาท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 เอง ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มิได้โต้แย้งแต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา เพราะทำในฐานะตัวแทน ดังนี้ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการทำสัญญาจ้างเหมารายพิพาทนี้เองแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลจะยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะเป็นตัวแทน แต่ไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่ามีเหตุอย่างใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยลำพังสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 1 ตามที่ขอมาได้นั้นหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1ว่าจ้างเหมาโจทก์ก่อสร้างตึก 18 คูหา เป็นเงิน 1,040,000 บาท โดยจำเลยตกลงจ่ายเงินค่าก่อสร้างเป็นงวด ๆ ตามผลงานตามเงื่อนไขสำเนาสัญญาท้ายฟ้องโจทก์ก่อสร้างตามสัญญาจนถึงงวดที่ 5 ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าก่อสร้างให้โจทก์ตามงวดเป็นเงิน 330,000 บาท และไม่ชำระเงินค่าก่อสร้างงานเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 14,600 บาท โจทก์จึงระงับการก่อสร้างไว้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 344,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การต้องกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ตัวแทนจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 ได้จ้างนายฮั่งเจ็ง เป็นผู้รับเหมาช่วงปลูกสร้างอาคารที่พิพาทไม่เคยจ้างโจทก์ก่อสร้าง โจทก์เข้าทำการปลูกสร้างโดยอาศัยสิทธิของนายฮั่งเจ็ง จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้นายฮั่งเจ็งและโจทก์แล้วเป็นเงิน 792,000 บาท ทั้งที่ทำงานเสร็จคิดเป็นเงินเพียง 700,000 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่า โจทก์ก่อสร้างถึงงวดใด ผลงานมีเพียงใด เป็นเงินเท่าใด จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินงวดใด และเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม 14,600 บาท โจทก์ก็ไม่ได้บรรยายว่าเป็นงานเพิ่มเติมส่วนไหนอย่างไร และตกลงว่าจ้างเพิ่มเติมกันอย่างไรสัญญาท้ายฟ้องเป็นสัญญาปลอม
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเงินค่าก่อสร้างงานเพิ่มเติมจำนวน14,600 บาทเคลือบคลุม ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 และไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ โจทก์มาศาลด้วยมือไม่บริสุทธิ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่ามีเหตุผลอย่างไรที่จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจบังคับตามที่โจทก์ขอมาได้ ต้องยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสาม และ 246 คำฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เฉพาะเรื่องก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ 2 มิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อแรกที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับงานที่จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมจำนวน14,600 บาท ชัดแจ้งพอที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์นั้นเห็นว่าคำฟ้องโจทก์บรรยายเกี่ยวกับงานก่อสร้างเพิ่มเติมแต่เพียงว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินค่าก่อสร้างงานเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 14,600 บาท โดยมิได้บรรยายรายละเอียดว่าจำเลยตกลงจ้างโจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมเมื่อไร เป็นงานอะไรบ้างที่นอกเหนือจากสัญญาจ้างเดิม และคิดค่าจ้างเพิ่มเป็นจำนวนเงินค่าจ้างเท่าใด และจำเลยชำระเงินค่าก่อสร้างงานเพิ่มเติมแก่โจทก์แล้วเท่าใดจึงเป็นฟ้องที่มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นนั้น ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่ข้อนี้โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมารายพิพาทกับโจทก์แต่ชั้นพิจารณาโจทก์กลับนำสืบพยานว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 2ในการก่อสร้างตึกแถวแล้วยกกรรมสิทธิ์ตึกแถวให้แก่เจ้าของที่ดิน จำเลยที่ 1ในฐานะตัวแทนของหุ้นส่วนได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างตึกแถวพิพาทข้อนำสืบของโจทก์ขัดแย้งกับคำฟ้อง รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2จำเลยมีตัวจำเลยทั้งสองเบิกความว่า จำเลยที่ 2 แต่ลำพังคนเดียวเป็นผู้ทำสัญญารับปลูกสร้างตึกแถวกับนายแสง โชติวิจิตร เจ้าของที่ดิน แล้วจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างตึกแถวรายนี้อีกต่อหนึ่ง เห็นว่า จำเลยมีสัญญาปลูกสร้างตึกแถวยกกรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดินหมาย จ.1 และ จ.2 และสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างตึกแถวระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หมาย จ.3 ถึง จ.5 (อยู่ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2984/2514) มาประกอบนายแสงเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นพยานจำเลยชั้นพิจารณา และพยานโจทก์ชั้นไต่สวนคำขอยึดและอายัดทรัพย์ก่อนพิพากษาก็เบิกความทำนองนั้น นับได้ว่านายแสงเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความของนายแสงจึงมีน้ำหนัก พยานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 หาใช่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไม่ เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับโจทก์ และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ได้จ้างโจทก์ก่อสร้างตึกแถวพิพาทหรือไม่ข้อนี้โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญารับเหมาก่อสร้างตึกแถวพิพาทกับจำเลยที่ 1 มีข้อความตามภาพถ่ายสัญญาหมาย จ.5 โจทก์และจำเลยที่ 1ยึดถือไว้คนละฉบับ ต่อมาจำเลยที่ 1 มาขอยืมสัญญาฉบับของโจทก์ไปแล้วไม่คืนให้ โจทก์ได้แจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับจำเลย พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ข้อหาว่า เอาไปเสียซึ่งเอกสาร (สัญญาจ้างเหมาหมาย จ.5)ของผู้อื่นโดยทุจริต ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5061/2516ของศาลอาญา และโจทก์เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย ปรากฏว่าคดีดังกล่าวนั้นศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ร่วมและทำสัญญากันไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.1 เป็น 2 ฉบับ ให้โจทก์ร่วมและจำเลยยึดถือไว้คนละฉบับต่อมาจำเลยยืมสัญญาคู่ฉบับของโจทก์ร่วมไปจากนายเสวนิตย์ โออนุรักษ์ บุตรโจทก์ร่วมแล้วไม่ยอมคืนให้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 จำคุก 1 ปี เช่นนี้ จึงรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างตึกพิพาทกันมีข้อความตามภาพถ่ายหมาย จ.5 จริง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างเหมานายฮั่งเจ็ง แซ่โอ้ว ก่อสร้างตึกพิพาทโดยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาจ้าง แล้วโจทก์เข้ามาร่วมทำงานกับนายฮั่งเจ็งในภายหลังนั้นรับฟังไม่ได้ ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะเป็นตัวแทน แต่ไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่ามีเหตุอย่างใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยลำพัง สภาพแห่งข้อหาของข้อหาของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ทั้งหมดจึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ขอมาได้นั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 ว่าจ้างเหมาโจทก์ก่อสร้างตึกแถวพิพาทตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ได้แนบสำเนาสัญญาจ้างเหมามาพร้อมกับคำฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วย ตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 เอง ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเพราะทำในฐานะตัวแทนแต่อย่างใด หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการทำสัญญาจ้างเหมารายพิพาทนี้เองแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงมีข้อที่จะต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาท้ายฟ้องต่อไป ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ประเด็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินค่าก่อสร้างตามฟ้องหรือไม่ ข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลยทีเดียว และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานก่อสร้างตามสัญญาหมาย จ.5 ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วเสร็จคิดเป็นเงิน 900,000 บาท จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระเงินโจทก์อยู่ 310,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน310,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์