คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวัง ไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น การที่อำเภอบุณฑริกแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลนเป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนั้นไม่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์วัสดุที่รื้อถอนจากบ้านของโจทก์ร่วม โดยไม่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยเป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด มิใช่ข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ การที่โจทก์ร่วมทำหนังสือร้องทุกข์มีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยนานนับสิบปี แล้วสร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์ขึ้นแทน เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันตามโครงการพัฒนาหมู่บ้าน แม้เป็นความผิดต่อกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก จึงให้รอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 83 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ลักไป 20,470 บาท แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา นายเคน ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า นายเคน โจทก์ร่วมเป็นพ่อเลี้ยงของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของบ้านหลังที่เกิดเหตุ ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินสาธารณะ โจทก์ร่วมซื้อบ้านหลังนี้มาจากนายอุทัย เมื่อปี 2525 ในราคา 500 บาท บ้านหลังดังกล่าวมีเสาหกต้นพื้นไม้กระดาน ฝาบ้านเป็นไม้ไผ่ขัดแตะหลังคามุงด้วยหญ้าคา หลังจากซื้อแล้วโจทก์ร่วมกับนางพิมพ์ มารดาของจำเลยที่ 1 ไปพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น ครั้นต่อมาเมื่อปี 2540 นางพิมพ์ถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมได้ภริยาใหม่และอพยพไปอยู่ที่อื่น แต่โจทก์ร่วมมอบให้นางวิฑูรย์ บุตรสาวของโจทก์ร่วมดูแลบ้านหลังดังกล่าวแทนตน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2554 อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลน เป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครอง เพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองและพัฒนาหมู่บ้านตามความต้องการของราษฎร จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าบ้านหลังนั้นมีสภาพทรุดโทรม ประกอบกับโจทก์ร่วมทิ้งร้างไม่ได้พักอาศัย จำเลยที่ 1 จึงได้รื้อบ้านหลังนั้นออก ต่อจากนั้นคณะกรรมการที่อำเภอบุณฑริกมีมติแต่งตั้งได้ลงมติให้สร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์สำหรับหมู่บ้านขึ้นแทนโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบก่อน โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทคณิต พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบุณฑริกให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 รื้อถอนบ้านพักของโจทก์ร่วม แม้ไม่ทำให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านพักของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวังไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนต้องเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านพักของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะใช้ความระมัดระวังในการรื้อถอนและไม่ทำให้วัสดุได้รับความเสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมา แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการทำลายสภาพบ้านพักของโจทก์ร่วมให้สิ้นไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 บัญญัติ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา การที่อำเภอบุณฑริกมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองไม่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์วัสดุที่รื้อถอนจากบ้านพักของโจทก์ร่วม แต่ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยก็เป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในรายละเอียดปลีกย่อย อันได้แก่ความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ให้ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียดซึ่งมิใช่ในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า แม้จะฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นความผิดที่ยอมความได้ แต่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ให้ร้อยตำรวจโทคณิต พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในความผิดฐานนี้ ร้อยตำรวจโทคณิตจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง ส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากร้อยตำรวจโทคณิตว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ให้พยานดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกับพวกลักวัสดุที่รื้อถอนจากบ้านพักของโจทก์ร่วม ทั้งนี้ โจทก์ร่วมได้นำหนังสือร้องทุกข์ไปมอบให้พยานด้วย ศาลฎีกาได้ตรวจดูหนังสือร้องทุกข์ฉบับดังกล่าวแล้ว มีใจความสำคัญว่าโจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบุญฑริกให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบุณฑริกจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกา
ส่วนปัญหาว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 หนักเบาเพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 รื้อบ้านพักของโจทก์ร่วมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมทั้งโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยมานานนับสิบปี แล้วสร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์ขึ้นแทน เพื่อให้ราษฎรในละแวกนั้นใช้ประโยชน์ร่วมกันตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านของอำเภอบุณฑริก แม้เป็นความผิดต่อกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน แต่เห็นได้ว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก ยังไม่สมควรพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามที่โจทก์ฎีกา แต่ควรรอการกำหนดโทษไว้พลางก่อน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share