คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3
การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 157, 288
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 6
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี ความผิดฐานอื่นให้ยกและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ความผิดฐานอื่นให้ยก ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายณจิรพงศ์ ผู้ตาย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่สถานีตำรวจภูธรไทรน้อย สาเหตุเกิดจากพลาสติกที่ขั้วหลอดไฟฟ้าที่ติดอยู่ที่คานคอนกรีตตรงกลางห้องเก็บของกลางได้รับความร้อนสะสมจนเกิดลุกไหม้และเกิดเป็นลูกไฟตกลงไปที่เบาะรถจักรยานยนต์และสิ่งของอื่น ๆ ที่ติดไฟได้ซึ่งถูกเก็บไว้ในห้องเก็บของกลาง ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีเพลิงไหม้ หากหันหน้าเข้าหาอาคารสถานีตำรวจ ห้องดังกล่าวจะอยู่ทางด้านหลังข้างซ้ายมือ หลังจากนั้นไฟลุกลามไปยังห้องขังเยาวชนทำให้นายเจิด ผู้ต้องหาถึงแก่ความตายบริเวณใกล้กับประตูห้องขังดังกล่าว และลุกลามไปยังห้องขังหญิงซึ่งในขณะนั้นใช้ควบคุมผู้ต้องหา คือ นายวิสุทธิ์ นายวสันต์ และผู้ตาย บุตรชายของโจทก์ ทำให้ผู้ต้องหาทั้งสามเสียชีวิตบริเวณภายในห้องน้ำในห้องขังหญิง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเวร จำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สื่อสาร จำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่เป็นพลขับรถยนต์พนักงานสอบสวนเวร จำเลยที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำวัน ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาปฏิบัติหน้าที่เป็นสิบเวร ตามคำสั่งสถานีตำรวจภูธรไทรน้อยและตารางการปฏิบัติประกอบคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บรักษากุญแจห้องขังโดยห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่ระหว่างห้องขังเยาวชนและห้องขังหญิงซึ่งระบุในแผนที่ว่า ห้องยามพิมพ์มือ แต่ขณะเพลิงเริ่มลุกไหม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ในอาคารสถานีตำรวจ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ได้ประมาท เพราะก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้ยินเสียงสุนัขเห่ากระโชกบริเวณหน้าสถานีตำรวจ จึงเดินออกไปตรวจดูหน้าสถานีตำรวจ เนื่องจากเคยมีคนร้ายถอดเอาชิ้นส่วนรถของกลางไป เหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจคนอื่นไม่ได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่มีเสียงสุนัขเห่ากระโชก เพราะเจ้าพนักงานตำรวจคนอื่นอยู่ในห้องปรับอากาศจึงไม่ได้ยินเสียงสุนัขเห่า หลังจากนั้นประมาณ 20 นาที จำเลยที่ 3 ได้ยินเสียงดังมาจากในอาคารสถานีตำรวจ จำเลยที่ 3 จึงเดินกลับไปที่สถานีตำรวจ เมื่อพบว่าเกิดเพลิงไหม้จำเลยที่ 3 รีบไขกุญแจเพื่อช่วยผู้ต้องหาแต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้เพราะมีควันจำนวนมากทำให้จำเลยที่ 3 มองไม่เห็นและต้องรีบออกมาภายนอกบริเวณห้องขังเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจคนอื่น อีกทั้งความตายของผู้ต้องหาทั้งสี่ ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 แต่เกิดจากเพลิงไหม้อุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษานั้น เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ออกมาตรวจดูบริเวณหน้าสถานีตำรวจนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะหากจำเลยที่ 3 อยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจจริง จำเลยที่ 3 ต้องได้ยินเสียงผู้ต้องหาทั้งสี่ร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากขณะเกิดเหตุเป็นเวลาดึกสงัด ไม่มีเสียงรบกวน ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีความบกพร่องทางการได้ยิน เพราะจำเลยที่ 3 อ้างว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ในห้องทำงานจำเลยที่ 3 ได้ยินเสียงสุนัขเห่ากระโชกจากด้านหน้าสถานีตำรวจ ทั้งระยะเวลาที่เพลิงไหม้จากห้องเก็บของกลางด้านหลังลุกลามผ่านห้องทำงานของจำเลยที่ 3 ไปยังห้องขังเยาวชนและห้องขังหญิงต้องใช้เวลานานพอสมควรเพราะโครงสร้างอาคาร รวมทั้งผนังและพื้นตามภาพถ่ายประกอบรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีเพลิงไหม้เป็นคอนกรีตซึ่งติดไฟยาก และก่อนจะเกิดเป็นเปลวไฟจะต้องเกิดกลิ่นเหม็นไหม้และควันไฟเสียก่อน ทำให้ผู้ต้องหาทั้งสี่รู้ได้ว่ากำลังจะเกิดเพลิงไหม้และต้องร้องขอความช่วยเหลืออย่างสุดเสียงเป็นเวลานานเพื่อให้รอดชีวิต พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือของผู้ต้องหาทั้งสี่และช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่ไม่ทันจนผู้ต้องหาทั้งสี่ถึงแก่ความตาย บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจที่เกิดเหตุดังที่จำเลยที่ 3 อ้างแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหา แต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผล คือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ต้องหาทั้งสี่ เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอหรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย แต่ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ผลคือความตายของผู้ตายก็จะไม่เกิดขึ้น ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาอ้างว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 โดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม เพราะจำเลยที่ 3 หลงต่อสู้ไปแล้วว่าไม่มีเจตนาฆ่า ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถช่วยผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ การนำสืบเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 3 จะนำสืบต่อสู้ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้ว ยังนำสืบต่อสู้ให้เห็นด้วยว่า ไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 3 หลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อปรากฏว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไปไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลงต่อสู้ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้ เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทไม่ใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ และไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จึงชอบแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 3 สถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำความผิดในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะความประมาท ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยเจตนา แต่ก็ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง ทำให้ผู้อื่นทุกข์ทรมานจนถึงแก่ความตายถึง 4 คน กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวผู้ตายทั้งสี่ และทำให้ทรัพย์สินของกลางของผู้อื่น รวมทั้งทรัพย์สินของราชการเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนี้ โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมานั้นจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 3 สถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share