คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272ต้องนับแต่วันจดทะเบียนเลิกการชำระบัญชี หาได้นับแต่วันจดทะเบียน เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ เงินค่าภาษีอากรรายการใดที่โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมิน ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์พอใจการประเมินในรายการนั้นแล้ว ดังนี้ โจทก์จะยกมาต่อสู้ในชั้นศาลว่าการประเมินรายการนั้นไม่ถูกต้องหาได้ไม่ ปัญหานี้แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยให้การว่าการประเมินชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินบางรายการโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2523 โจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ กค.0820/1047/2/01460-01463ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2523 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 1 กรุงเทพมหานครให้โจทก์นำภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2518ถึง 2521 รวม 455,568.46 บาท ไปชำระเพิ่มเติมให้จำเลยที่ 1รายละเอียดปรากฏตามหมายเลข 2-5 ท้ายฟ้องโจทก์ที่ 2 วันเดียวกันโจทก์ที่ 1 ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่1047/3/04351-04352 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2523 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าให้โจทก์ที่ 1 นำภาษีการค้า เงินเพิ่มเบี้ยปรับและภาษีบำรุงเทศบาล ประจำเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี พ.ศ.2520, 2521 รวม 131,445.74 บาท ไปชำระให้จำเลยที่ 1 ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเจ้าพนักงานประเมินอ้างว่า โจทก์ที่ 1 มีรายจ่ายบางอย่างซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กับแจ้งยอดเงินได้ไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง ส่วนเหตุผลที่ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีการค้าเพิ่มปรากฏตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าว่า โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าโดยแจ้งยอดรายรับต่ำกว่าความเป็นจริงและไม่ได้นำสินค้าบางอย่างลงบัญชีคุมสินค้า โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์การประเมินเฉพาะปัญหาเรื่องการนำจำนวนภาชนะบรรจุยาที่ขาดจำนวนไปจากจำนวนที่ซื้อมา มาคำนวณเป็นยอดขายหรือยอดรายรับของโจทก์ที่ 1 ปัญหาเรื่องการประเมินโดยอาศัยมาตรา 65 ทวิ, 65 ตรีตลอดจนการแจ้งยอดรายรับหรือเงินได้ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างอื่นโจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมิน ส่วนจำเลยที่ 1ฟ้องขอให้ศาลบังคับโจทก์ทั้งสองชำระหนี้ตามที่ได้แจ้งการประเมินและมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า การนับอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ต้องนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2521 อันเป็นวันขอจดทะเบียนเลิกห้าง เมื่อจำเลยที่ 1 นำคดีมาฟ้องในวันที่ 6 มกราคม 2527 คดีของจำเลยที่ 1ขาดอายุความนั้น ข้อนี้เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1272 บัญญัติว่า “ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วน ฯลฯหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ฯลฯ เป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี”การนับอายุความตามมาตรานี้จึงหาได้นับแต่วันจดทะเบียนเลิกห้างดังที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสือรับรองเอกสารหมายเลข 1 ท้ายฟ้องของโจทก์ที่ 2 ว่า ห้างโจทก์ที่ 1จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2525 คดีของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาโจทก์ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ กค.0820/1047/2/01460-01463ในส่วนที่ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 หักค่าเสื่อมราคาโทรทัศน์สีโดยถือว่ามิใช่เป็นรายจ่ายเกี่ยวแก่กิจการกับค่าเสื่อมราคาอาคารเพราะไม่มีหลักฐานในการก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นการประเมินไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์การประเมิน โจทก์ที่ 1 มิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ด้วย ดังนี้ เมื่อกรมสรรพากรนำคดีมาฟ้องเรียกเงินค่าภาษีส่วนนี้ โจทก์ทั้งสองจะต่อสู้ว่าการประเมินภาษีในปัญหานี้ไม่ถูกต้องไม่ได้ เทียบนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 809/2518 ระหว่างกรมสรรพากร โจทก์ บริษัทสหวิศวกรไทย จำกัด จำเลย ฎีกาโจทก์ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ข้อที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานประเมินไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 หักค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุหีบห่อจำนวน 101,485.15 บาทค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบ 12,600 บาท นำค่าวัตถุดิบในการผลิตยา23,506 บาท ที่โจทก์ส่งคืนมาตัดบัญชีซื้อ ไม่ยอมให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องใช้ในการผลิตยา 16,000 บาท มาเป็นค่าใช้จ่ายโดยถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้าม กับนำยอดขาดทุนในการจำหน่ายทรัพย์สินในวันเลิกประกอบการค้า 185,546.85 บาท มาเป็นรายรับโดยถือว่าความจริงโจทก์ที่ 1 จำหน่ายทรัพย์ไปในราคาทุน กับนำผลต่างของสินค้าคงเหลือปลายปี 2520 และต้นปี 2521 จำนวน 40,775.50 บาทมาเป็นรายรับ เป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเหล่านี้โจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมาย แสดงว่าโจทก์ที่ 1 พอใจการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในรายการเหล่านั้นแล้ว ดังนี้จะมาต่อสู้การประเมินไม่ถูกต้องในภายหลังไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า การตรวจสอบไต่สวนซ้ำซ้อน กล่าวคือเดิมในชั้นขอจดทะเบียนเลิกการประกอบการค้าเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบเห็นว่าการเสียภาษีของโจทก์ที่ 1 ถูกต้องแล้ว จึงอนุมัติให้เลิกการประกอบการค้า มาภายหลังกลับประเมินให้โจทก์ที่ 1เสียภาษีเพิ่มเติมโดยเห็นว่า ภาษีอากรที่ชำระไว้แล้วไม่ถูกต้องทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเป็นธรรม เจ้าพนักงานจึงไม่มีอำนาจในการประเมินนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 2 เพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
คดีคงเหลือปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า โจทก์ที่ 1มีรายได้จากการขายยาเกินบัญชีคุมสินค้าในปี 2520 ปี 2521 เป็นเงิน512,052 บาท และ 1,823,015.40 บาท ตามลำดับหรือไม่ ข้อนี้จำเลยทั้งห้านำสืบว่า เดิมในปี 2517 ถึง 2519 รายการซื้อวัสดุหีบห่อบรรจุยาโจทก์ที่ 1 แสดงรายการคงเหลือไว้ ครั้นปี 2520 ถึงปี 2521รายการวัสดุหีบห่อบรรจุยาหรือใช้โจทก์ที่ 1 กลับไม่แสดง แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อมาและใช้ไปหมด เมื่อตามหลักฐานรายการหีบห่อบรรจุยาที่ซื้อมามากกว่าที่ใช้ไป จำนวนที่ต่างกันจึงเป็นสินค้าที่โจทก์ ที่ 1มิได้นำลงบัญชีคุมสินค้า ที่จำเลยที่ 2 นำมาคำนวณหาราคายาจึงชอบแล้ว ทั้งนี้ได้หักค่าสูญหายของหีบห่อให้ร้อยละ 20 และหักส่วนลดการขายให้ร้อยละ 10 แล้วด้วย รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.21, ล.22, ล.24 และ ล.26
ส่วนโจทก์ที่ 2 นำสืบว่า เดิมมีการทำบัญชีภาชนะบรรจุสินค้าครั้นปี 2520 ทางสรรพากรแนะนำว่าไม่ต้องทำ แต่ห้างโจทก์ที่ 1ก็จัดทำเพื่อความสะดวกในการควบคุมของห้าง จำเลยที่ 1 ก็เคยเรียกไปตรวจสอบซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็ส่งให้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5ภาชนะบรรจุยาในปี 2520, 2521 ยังคงมีเหลือ และเสียหายโดยการแตกรั่วซึมสกปรก กล่องกระดาษอาจจะเสียหายโดยพิมพ์ไม่ชัดเจนเก็บนานก็เก่าและเหลืองใช้ไม่ได้ กระบอกสังกะสีเก่าขึ้นสนิมกับบุบเนื่องจากการขนส่งซึ่งมีมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ การคำนวณการขายโดยถือจำนวนภาชนะจึงไม่ถูกต้อง
ศาลฎีกาพิเคราะห์ปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่า การกำหนดราคาขายเพิ่มขึ้นโดยถือจำนวนภาชนะบรรจุยาที่ควรจะเหลือจากการใช้เป็นหลักในการคำนวณนั้น เป็นเรื่องของพยานเหตุผลแวดล้อมกรณี แต่เนื่องจากภาชนะบรรจุยาที่เสียหายไปดังที่โจทก์ที่ 2 นำสืบก็ไม่ใช่น้อยเพียงแต่พยานเหตุผลดังกล่าวยังไม่สามารถฟังได้แน่ชัดว่ามีการขายสินค้าไปโดยไม่ได้ลงบัญชีคุมสินค้าดังที่ได้ทำการคำนวณ ข้อสำคัญหากจำนวนภาชนะบรรจุสินค้าสามารถบ่งชี้ถึงจำนวนรายรับของกิจการได้แน่นอนแล้ว ไม่มีเหตุผลที่กรมสรรพากรจะต้องออกระเบียบให้ผู้ประกอบการค้าต้องทำบัญชีคุมสินค้าอีก การประเมินรายรับของโจทก์ที่ 1 ในปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบ
ดังวินิจฉัยมาศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาโจทก์ที่ 2 และฎีกาของจำเลยทั้งห้าทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ที่ 2ชนะคดี และบังคับโจทก์ทั้งสองให้ชำระหนี้บางส่วนโดยมิได้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในส่วนที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดี กับมิได้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2ในส่วนที่บังคับให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ กค.0820/1047/2/01462-01463 กับเพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า เลขที่ 1047/3/04351-04352ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2523 นั้น ให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับรายรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520, 2521จำนวน 512,052 บาท 1,823,015.40 บาท ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ที่ 2นอกจากที่กล่าวให้ยก และให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ กค.0820/1047/2/01460-01463ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2523 และแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 1047/3/04351-04352 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2523 ในส่วนที่มิได้เพิกถอนให้จำเลยที่ 1 ฟ้องของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share