คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5284/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ว่า ถ้าเจ้าของขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้ว ยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่จะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อกับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วนตามสัญญานั้นเป็นวิธีการกำหนดจำนวนค่าเสียหาย มิใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นข้อกำหนดค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ล่วงหน้าในกรณีเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม แต่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับกันไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 7,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาข้อ 10 ได้กำหนดว่า ถ้าเจ้าของขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้ว ยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่จะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อกับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วนตามสัญญา ฉะนั้นค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถได้ราคาไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นการบังคับตามสัญญามิใช่เรียกร้องเอาเบี้ยปรับดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น เห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1ที่ว่า ถ้าโจทก์ขายรถยนต์ได้ราคาไม่ครบถ้วนตามจำนวนราคาค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระทั้งหมด จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินที่ขาดจนครบนั้นเป็นวิธีการกำหนดจำนวนค่าเสียหายมิใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นข้อกำหนดค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ล่วงหน้าในกรณีเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสอง แต่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับกันไว้นั้นชอบแล้ว ถึงแม้โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถได้ราคาไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ให้โจทก์จนครบถ้วนอันเป็นข้อตกลงตามสัญญาข้อ 10 เมื่อข้อสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว แต่โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์มีสิทธิได้เบี้ยปรับคงเรียกร้องค่าเสียหายที่จำเลยยินยอมตกลงตามสัญญาศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share