คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไป ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด และจำเลยรับไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และจะถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์มิได้ เพราะมิใช่ตัวทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกลักไปโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกอีก 4 คนได้ร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ไป 60 รายการ รวมราคา 958,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้และติดตามยึดทรัพย์ของโจทก์คืนมาได้ 36 รายการ ราคา 190,500 บาท ส่วนทรัพย์รายการอื่นที่ติดตามยึดคืนมาไม่ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้จำหน่ายและจำนำทรัพย์ดังกล่าวไปแล้ว และจำเลยที่ 2 นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายและจำนำทรัพย์เหล่านั้นบางส่วนไปฝากธนาคารไว้ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 โดยมียอดเงินฝากคงเหลือในบัญชี206,000 บาท จำเลยที่ 2 ยินยอมจะถอนเงินจากบัญชีมาคืนให้โจทก์จำนวน 190,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ถอนเงินจากบัญชีจำนวน 190,000 บาท แล้วไม่นำมาคืนให้โจทก์ กลับมอบเงินบางส่วนจำนวน 100,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 นำไปฝากธนาคารไว้ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 นำสมุดบัญชีเงินฝากนั้นมายื่นเป็นหลักประกันในการประกันตัวจำเลยที่ 2 ต่อพนักงานสอบสวน และจำเลยที่ 2 มอบเงินให้จำเลยที่ 4 จำนวน64,121.25 บาท แล้ว จำเลยที่ 4 มอบเงินจำนวน 50,000 บาทให้จำเลยที่ 3 นำไปฝากธนาคารไว้ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 อีกบัญชีหนึ่ง จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ทราบดีว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไปและโจทก์มีสิทธิเรียกคืนได้ โจทก์ติดใจให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์เพียง 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงิน 200,000 บาท คืนแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลักทรัพย์ของโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์ของโจทก์ เงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 2 เป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ทำมาหาได้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 ไม่เคยมอบเงินให้จำเลยที่ 3 เพื่อนำมายื่นเป็นหลักประกันตัวจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 มอบเงินให้จำเลยที่ 4 เพราะจำเลยที่ 4 เป็นพี่สาวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ขอประกันตัวจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขอร้อง หลักประกันที่นำไปยื่นเป็นบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 เอง จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อโจทก์ในจำนวนเงิน 150,000บาท และ 14,121.25 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันรับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยทราบว่าเป็นเงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไปดังที่โจทก์อ้างนอกจากนี้เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับมอบเงินจำนวนดังกล่าวไว้ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของเงินที่จำเลยที่ 2มอบให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวได้จากจำเลยที่ 3 ที่ 4 นั้น เห็นว่า แม้เงินจำนวนดังกล่าวได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไป ก็จะถือว่าเป็นเงินของโจทก์มิได้ เพราะมิใช่ตัวทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกลักไปโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ที่ 4
พิพากษายืน.

Share