คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15383/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและรับต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ไปยังจำเลยและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไปสำนักงานที่ดินแต่จำเลยไม่ไป ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 207 โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันนัดจดทะเบียนโอนและไถ่ถอนจำนองที่ดินแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่จำต้องวางเงินต่อศาลหรือต้องวางเงิน ณ สำนักงานวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 333 แต่ประการใด เพราะถือว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในการไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ซึ่งจะต้องดำเนินการ ณ สำนักงานที่ดิน ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่าจำเลยปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวมาแต่ต้น การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรับชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง แล้ว และกรณีเช่นนี้โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินไปชำระ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตาม มาตรา 324 อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรวม 337,583 บาท ไปจากโจทก์ กับให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19950 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร และส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับเงินที่โจทก์วางไว้ต่อศาลตามคำแถลงลงวันที่ 19 มกราคม 2552 โดยให้รับต้นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2551 เงินส่วนที่เหลือให้คืนแก่โจทก์ (ถ้าหากมี) และให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19950 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร และส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19950 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยระบุวงเงินจำนอง 200,000 บาท เพื่อประกันหนี้เงินกู้ 200,000 บาท หลังจากครบกำหนดไถ่ถอนจำเลยมิได้บอกกล่าวบังคับจำนอง ทนายความของโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอไถ่ถอนจำนองและให้จำเลยรับต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยในวันนัดจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน เมื่อถึงวันนัดจำเลยไม่ไปสำนักงานที่ดินคงมีแต่โจทก์ไปสำนักงานที่ดิน ปรากฏตามสำเนาคำขอบันทึกกรณีผู้รับจำนองผิดนัดโอนกรรมสิทธิ์แนบท้ายคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ในสำนวนคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยเรื่องกู้ยืม จำนอง ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยให้การต่อสู้คดี ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง ซึ่งโจทก์ยอมรับตามคำแก้ฎีกาว่าเป็นจริง โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 3520/2551 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หรือไม่ คดีดังกล่าวศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์วางทรัพย์ยังไม่ครบถ้วนและไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยประเด็นอื่น ดังนี้ หากโจทก์วางทรัพย์ครบถ้วนและต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331 แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเป็นคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นหนี้กู้ยืมเงินจำนวนเท่าใด ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3520/2551 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้วินิจฉัยว่า นางอริสา บุตรสาวของโจทก์กู้เงินจำเลย 500,000 บาท โดยโจทก์ยอมรับผิด 200,000 บาท จึงจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ทั้งสอดคล้องกับสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาจำนอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นหนี้กู้ยืมเงิน 200,000 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องไถ่ถอนจำนองหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและรับต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ในวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ไปยังจำเลยและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไปสำนักงานที่ดินแต่จำเลยไม่ไป ดังนี้ ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207 โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันนัดจดทะเบียนโอนคือ วันที่ 16 ตุลาคม 2551 และไถ่ถอนจำนองที่ดินแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่จำต้องวางเงินต่อศาลหรือต้องวางเงิน ณ สำนักงานวางทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 333 แต่ประการใด เพราะกรณีเช่นนี้ถือว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในการไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ซึ่งจะต้องดำเนินการ ณ สำนักงานที่ดิน ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่า จำเลยปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวมาแต่ต้น การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรับชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 วรรคสอง แล้ว และกรณีเช่นนี้โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินไปชำระ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามมาตรา 324 ดังที่จำเลยฎีกาอีก ส่วนดอกเบี้ยหลังวันที่ 16 ตุลาคม 2551 โจทก์หาจำต้องเสียดอกเบี้ยไม่เพราะจำเลยเป็นผู้ผิดนัด ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 221 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่เพียงว่าให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ เป็นการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ในชั้นอุทธรณ์และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share