คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7571-7572/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจโจทก์ที่ให้ ส. ฟ้องคดีแทนมิได้ระบุว่ายื่นฟ้องใครและข้อหาอะไร เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดเจนแล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนและยังแนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องจำเลยทั้งสามด้วยข้อหาอะไร เกี่ยวกับเรื่องอะไร ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีต้องระบุรายละเอียดว่ามอบอำนาจให้ฟ้องใคร ข้อหาอะไร หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปลูกเพิงที่พักลงบนที่ดินพิพาทเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2537 และจำเลยที่ 1 นำหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจและต่อสู้คดีแสดงว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการบุกรุกที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2537 แล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 และวันที่ 28 เมษายน 2538 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสามว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 162 ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2537 จำเลยทั้งสามและบริวารได้ใช้รถไถทำการปรับสภาพที่ดินโจทก์ด้านทิศเหนือแล้วปลูกโรงเรือนขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากนำที่ดินออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 บาท หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีสำนวนแรกแล้ว จำเลยทั้งสามและบริวารได้เข้ามาปลูกต้นไผ่และทำการปรับสภาพที่ดินของโจทก์เพิ่มเติมอีกคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากนำที่ดินออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนโรงเรือนพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และทำการปรับสภาพที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมและห้ามจำเลยทั้งสามพร้อมบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในสำนวนแรกเดือนละ 500 บาท ในสำนวนที่สองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามในทั้งสองสำนวนให้การเป็นใจความว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์สำนวนที่สองมิได้ระบุให้นายสกล ดาวกระจาย ฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 162 ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี แต่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของได้รับโอนมาจากนางชื่น เกสร ประมาณ 26 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของโจทก์ออกปี 2520 ทับที่ดินจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับเอกสารสิทธิดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนโรงเรือนและขนย้ายวัสดุสิ่งของออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ทำการปรับสภาพที่ดินพิพาทของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม กับห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินสำนวนละ เดือนละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะรื้อถอนโรงเรือนและขนย้ายวัสดุสิ่งของพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์สำนวนละ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสกล ดาวกระจาย ฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 และ จ.13 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 162 ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน มีชื่อนายอนันต์ กิตติปรีดา สามีโจทก์เป็นเจ้าของต่อมาสามีโจทก์ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยเป็นสามีภริยากัน ในปี 2520 จำเลยที่ 1 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำเลยที่ 2 จึงได้จำเลยที่ 3 เป็นสามีแต่เลิกร้างกันไป เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รถไถดินเข้าไปปรับสภาพที่ดินพิพาทแล้วปลูกเพิงที่พักลงบนที่ดินพิพาท โจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหาบุกรุก จากนั้นจำเลยที่ 1 นำหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจและต่อสู้คดีตลอดมา
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพราะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาเฉพาะในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามและระยะเวลาการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ไว้พิจารณา ส่วนประเด็นข้ออื่นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่รับ ดังนั้นปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเพียง 2 ประการ ประการแรกคือ เรื่องอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ข้อนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุให้นายสกล ดาวกระจาย เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยทั้งสามหรือบุคคลใด และฟ้องในข้อหาอะไรเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้หนังสือมอบอำนาจโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.13 ทั้งสองสำนวนที่ให้นายสกลฟ้องคดีแทนโดยมิได้ระบุว่ายื่นฟ้องใครและข้อหาอะไร เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายไว้ชัดเจนทั้งสองสำนวนแล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสกลฟ้องคดีแทนและยังแนบสำนวนหนังสือมอบอำนาจมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสกลฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้ด้วย ข้อหาอะไร เกี่ยวกับเรื่องอะไร กรณีหาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีต้องระบุรายละเอียดว่า มอบอำนาจให้ฟ้องใคร ข้อหาอะไร ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างมาไม่ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ให้นายสกลฟ้องคดีแทนจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จริงตามฟ้อง และประเด็นดังกล่าวต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงต้องฟังเป็นยุติว่าเป็นที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปลูกเพิงที่พักลงบนที่ดินพิพาทเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2537 และจำเลยที่ 1 นำหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจและต่อสู้คดีแสดงว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการบุกรุกที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2537 แล้วดังที่โจทก์ฟ้องและนำสืบมา เมื่อนับตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสามบุกรุกอันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ถึงวันฟ้องคือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 และวันที่ 28 เมษายน 2538 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share