แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลดค่าเสียหายลงนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพิ่มขึ้นและชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ฎีกาในส่วนดอกเบี้ยโจทก์เพิ่งยกเป็นประเด็นขึ้นว่าในชั้นฎีกาจึงไม่ใช่ข้อที่ว่ากันมาในชั้นอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 1,973,725.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 15,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 265,813 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 1331 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 5,783,327.04 บาท จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 21 ซึ่งถึงกำหนดชำระวันที่ 9 กันยายน 2541 เป็นต้นมา ต่อมาโจทก์มอบอำนาจให้นายเสมา พนักงานของโจทก์ไปรับรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 โดยทำบันทึกการรับรถยนต์คืน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า นายเสมาผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่า ได้รับรถยนต์ซึ่งอยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดๆ อีก เห็นว่า นายเสมาเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ที่ไปรับมอบรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อมาจากโจทก์คืนไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเสมาเป็นตัวแทนของโจทก์ไปเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2542 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คืนให้โจทก์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 ตามใบรับมอบสินค้า นาน 5 เดือนเศษ ทำให้มีข้อพิรุธน่าสงสัย เมื่อหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ได้ให้อำนาจแก่นายเสมาไปเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายกับจำเลยที่ 1 นายเสมาทำบันทึกตกลงเรื่องค่าเสียหายโดยปราศจากอำนาจบันทึกข้อตกลงจึงไม่ผูกพันโจทก์แต่อย่างใดจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดค่าเสียหายต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสามมีว่า ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ออกให้ผู้อื่นเช่าควรมีจำนวนเท่าใด จำเลยทั้งสามฎีกาในส่วนค่าขาดราคาว่า รถยนต์เช่าซื้อในราคา 5,783,327.04 บาท โจทก์ใช้เงินลงทุนเพียง 5,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 20 งวด เป็นเงิน 2,400,000 บาทเศษ แต่โจทก์อ้างว่าขายรถยนต์ให้บุคคลภายนอกในราคา 2,060,000 บาท นั้นเป็นไปไม่ได้ โจทก์ขายรถยนต์ได้ในราคาสูงกว่าที่กล่าวอ้าง เมื่อนำเงินที่ได้จากการขายรถยนต์มารวมกับค่าเช่าซึ้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ 2,409,719 บาท โจทก์จะได้รับเงินสูงกว่าราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ 5,783,327.04 บาท โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนโจทก์ฎีกาว่า แม้ค่าเช่าซื้อรถยนต์จะรวมต้นเงินและดอกเบี้ยล่วงหน้าตามระยะเวลาค่างวดเช่าซื้อมิใช่ราคารถยนต์อย่างเดียว แต่โจทก์มีค่าใช้จ่ายอื่นเป็นค่าดอกเบี้ยที่ยืมเงินมาเพื่อซื้อรถยนต์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดราคาเป็นเงิน 214,365 บาท และค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 91,448 บาท นั้น ต่ำกว่าความเป็นจริง เห็นว่า จำเลยทั้งสามมีเพียงนายวิฑูรย์ พนักงานของจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆ โดยไม่มีหลักฐานใดมาประกอบจึงเป็นแต่คำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังแต่เมื่อพิจารณาจากราคารถยนต์ที่ให้เช่าซื้อประกอบกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อและราคารถยนต์ที่ขายได้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดราคาให้โจทก์จำนวน 500,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าขาดประโยชน์ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เดือนละ 120,485,98 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ของโจทก์หลังจากเลิกสัญญาเช่าซื้อกันแล้วเป็นเวลา 5 เดือน 17 วัน จึงส่งมอบรถยนต์คืน สมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์จำนวน 111,333 บาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น โจทก์เพิ่งยกประเด็นข้อนี้ขึ้นว่าในชั้นฎีกา จึงไม่ใช่ข้อที่ว่ากันมาในชั้นอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 611,333 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ