คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6852/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำเลย โจทก์ได้แถลงยืนยันภูมิลำเนาของจำเลยว่า ปัจจุบันจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลย ณ บ้านหลังดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้มีคำสั่งให้ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งหมายนัดให้แก่จำเลยได้ หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลย ณ บ้านหลังดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้มีคำสั่งให้ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนา ดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งหมายนัดให้แก่จำเลยได้ หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้ปิดหมายไว้ ณ บ้านหลังดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายดังที่ได้ประทับข้อความไว้ในหมายนัด แต่เจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 65/71-72 ถนนแฮปปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ไม่ตรงตามคำสั่งศาล จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและหลังจากนั้นต่อมาถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่มีผลให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้วสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่ให้ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง การที่ศาลอุทธรณ์ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2538 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,293,326.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 2,659,424.73 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนรวมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 66,550 บาท ภายในวันที่ 28 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 หากผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 233810 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมโจทก์จึงยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547
ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2548 โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา และได้วางค่าใช้จ่ายในวันดังกล่าวจำนวน 2,500 บาท อันเป็นการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่าโจทก์ขอให้บังคับคดีเมื่อพ้นระยะเวลาการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ของจำเลยต่อไป
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ดำเนินการตั้งเรื่องเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยที่กรมบังคับคดีในวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 แต่ยังไม่ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลย ไม่ถือว่าเป็นการยึดทรัพย์ของจำเลยตามกฎหมาย โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 พ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีให้งดการยึดจึงชอบแล้ว การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า โจทก์ขอบังคับคดีเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน หากไม่แถลงให้ถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์
วันที่ 5 มิถุนายน 2549 เจ้าพนักงานศาลรายงานว่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไมได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รอผู้อุทธรณ์แถลง” ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2549 เจ้าพนักงานศาลรายงานว่าโจทก์มิได้ดำเนินการแต่อย่างใดศาลชั้นต้นจึงรวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ทนายโจทก์มอบฉันทะให้นางสาวนุชนาถ เสมียนทนายนำอุทธรณ์ของโจทก์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2549 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ สำเนาให้จำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดีให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 7 วันหากส่งไม่ได้ให้แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงถือว่าทิ้งอุทธรณ์โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยแล้ว แต่ส่งหมายให้แก่จำเลยไม่ได้เนื่องจากจำเลยย้ายที่อยู่ไปแล้ว เจ้าพนักงานเดินหมายรายงานศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รอผู้อุทธรณ์แถลง” ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2549 เจ้าหน้าที่รายงานศาลชั้นต้นว่าผู้อุทธรณ์มิได้ยื่นคำแถลงภายในเวลาที่ศาลกำหนดศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา และศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่โจทก์ไม่แถลงภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์หรือไม่เห็นว่าเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย โจทก์ได้แถลงยืนยันภูมิลำเนาของจำเลยว่า ปัจจุบันจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย ฉบับลงวันที่ 6 มกราคม 2548 และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำนวนคำร้องให้แก่จำเลย ณ บ้านหลังดังกล่าวหากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้มีคำสั่งให้เปิดหมายไว้ ณ บ้านหลังดังกล่าวด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิเนาดังกล่าวซึ่งสามารถส่งหมายนัดให้แก่จำเลยได้ หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำแถลง ลงวันที่ 18 เมษายน 2549 ขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้ปิดหมายไว้ ณ บ้านหลังดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายดังที่ได้ประทับข้อความไว้ในหมายนัดแต่เจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 65/71-72 ถนนแฮปปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ไม่ตรงตามคำสั่งศาล จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 (2) กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและหลังจากนั้นต่อมาถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ไม่มีผลให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แล้วสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่ให้ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวแล้วสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง การที่ศาลอุทธรณ์ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปได้”
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยใหม่ให้ถูกต้องแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share