แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 นั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่จำเลยเข้าหาพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาลและไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 เวลากลางวัน จำเลยใช้มีดพร้าฟันนายบุญ ผู้เสียหาย ถูกที่บริเวณมือขวา เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2548 เจ้าพนักงานยึดมีดพร้าที่จำเลยใช้กระทำความผิดเป็นของกลาง และจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยแล้วปล่อยตัวไป โดยไม่มีการจับกุมหรือควบคุมตัวจำเลยหรือมีการประกันตัว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 295 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117″ ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้การที่จำเลยเข้าหาพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาลและไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน